คลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม

โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น

ผู้ใดบ้างที่เป็นโรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สาเหตุของโรครูมาตอยด์

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การมีฟันผุ การสูบบุหรี่

อาการของโรครูมาตอยด์

ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก จะเป็นมากที่สุดช่วงตื่นนอนเช้าและอาจมีอาการอยู่ 1 – 2 ชั่วโมงหรือทั้งวันก็ได้ ลักษณะอาการปวดข้อ ช่วงเช้านี้เป็นลักษณะสำคัญของโรครูมาตอยด์ ซึ่งต่างจากโรคไขข้ออื่น ๆ ตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุดมักจะเป็นที่มือและเท้า แต่มีโอกาสปวดข้อตำแหน่งอื่นได้ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์อาจมีอาการต่อไปนี้ได้ เช่น อ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ตาแห้ง คอแห้งผิดปกติ พบก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ ในรายที่ได้รับการรักษาล่าช้าอาจเกิดการทำลายข้อถาวร ทำให้ข้อพิการผิดรูปได้

การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีความลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้า ๆ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเป็นผู้วินิจฉัย

การวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายทางข้อที่พบว่ามีลักษณะร้อน บวม แดง และปวด การเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการจะแสดงให้เห็นถึงภาวะซีด ตรวจพบ Rheumatoid Factor ค่า Anti CCP IgG ขึ้นสูงและค่าการอักเสบในเลือดที่สูงขึ้น (ESR) ค่า ESR ที่สูงขึ้นมักจะสัมพันธ์กับจำนวนข้อที่อักเสบ นอกจากนี้การถ่ายภาพรังสี เอกซเรย์ หรือการทำ MRI สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ด้วย โดยดูจากความรุนแรงของข้อที่ถูกทำลายไป

อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือนจะไม่มีการตรวจวินิจฉัยเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะชี้ชัดลงไปว่าผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ การวินิจฉัยมักจะอาศัยอาการนำที่สำคัญ การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการมารวมกัน ในการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง

การรักษา

  1. การใช้ยา ปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ ได้แก่ ยารักษารูมาตอยด์ โดยเฉพาะยาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคสารชีวภาพและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์
  2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย
  3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ
  4. การผ่าตัดจะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว

แบบประเมินการกำเริบของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด ของ BASDAI

สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม
ชั้น 3 อาคาร B
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.