เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ
4 นาทีในการอ่าน

แชร์
ในอดีตหากพูดถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก หลายคนคงเกิดความวิตกกังวล กลัวเจ็บ กลัวเสี่ยงกับผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด จึงไม่แปลกที่คนไข้หลายรายจะปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วหันไปพึ่งวิธีอื่นแทน แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาจนสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ การผ่าตัดแผลเล็กไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ
การผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic Surgery) นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการคิดค้นขึ้น โดยใช้วิธีผ่าตัดผ่านรูเล็ก ๆ ขนาดเพียง 3 – 5 มม. เจาะบนผนังหน้าท้อง จากนั้นจึงสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปตรวจดูอวัยวะภายใน ซึ่งแพทย์สามารถเห็นภาพผ่านจอทีวี โดยมีการผ่าตัดผ่านกล้อง 2 มิติ ต่อมาพัฒนาเป็นระบบ HD (High Definition) ที่ให้ความคมชัดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีเป็นแบบ 3 มิติ ที่สามารถมองเห็นมุมมองภาพ ทั้งความกว้าง ยาว และลึกขณะที่ทำผ่าตัดแผลเล็กได้
ซึ่งข้อแตกต่างจากวิธีดั้งเดิมที่เห็นได้ชัด คือ ไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เหมือนวิธีเปิดหน้าท้อง แผลจึงเล็ก คนไข้ไม่เจ็บตัวมาก ช่วยให้การฟื้นตัวของร่างกายกลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น ที่สำคัญเทคนิคนี้สามารถใช้ได้ผลดีกับการรักษาโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในช่องท้อง รวมไปถึงโรคมะเร็งบางชนิดด้วย
โรงพยาบาลกรุงเทพได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้นำร่องในการรักษาคนไข้ของ 3 ศูนย์หลัก
- ศูนย์ศัลยกรรม
- ศูนย์สุขภาพสตรี
- ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
การผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติกับศูนย์ศัลยกรรม
ในยุคแรกที่มีการนำเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องมาใช้เป็นการผ่าตัดถุงน้ำดี เนื่องจากเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ชายโครง ซึ่งเดิมเคยผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งคนไข้จะเจ็บมากและพักฟื้นนาน เพราะบาดแผลใหญ่ เมื่อมีการใช้กล้องมาช่วยในการผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นอวัยวะภายในร่างกายคนไข้และผ่าตัดโดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าท้องอีกต่อไป ต่อมาการผ่าตัดผ่านกล้องจึงพัฒนาและผ่าตัดได้เกือบทุกประเภท
ข้อจำกัดของกล้องผ่าตัดแบบ 2 มิติ คือ เห็นแค่ในลักษณะกว้างและยาวเท่านั้น แพทย์ต้องใช้เวลาพอสมควรในการมองเล็งอวัยวะให้ถูกต้อง แต่เมื่อพัฒนาเป็นกล้อง 3 มิติ ให้ภาพที่คมชัด เห็นได้ทั้งกว้างยาวและลึกขึ้น ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้ตรงจุดมากขึ้น จึงสามารถใช้ได้กับการผ่าตัดที่ซับซ้อน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นถึงปานกลาง และโรคไส้เลื่อน ซึ่งมักมีความซับซ้อนในด้านของอวัยวะสูง การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยขยายภาพให้มีความคมชัด เนื่องจากต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองแยกออกจากเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น กระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูดต่าง ๆ รวมทั้งการผ่าตัดไส้ติ่งทางหน้าท้อง การผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพสูงจะทำให้ได้รับผลการผ่าตัดรักษาดี เจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อย ฟื้นตัวไว แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น คนไข้ที่มีพังผืดมากจะไม่มีพื้นที่สำหรับการใส่กล้องและเครื่องมือแพทย์ได้ หรือคนไข้ที่เป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามมาก เพราะการผ่าตัดผ่านกล้องใส่เครื่องมือได้จำกัดจะทำไม่ได้เหมือนการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
ทั้งนี้คนไข้ที่ได้ประโยชน์ชัดเจนจากการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง เช่น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะของคนไข้ที่เป็นโรคอ้วน การเจาะรูเล็ก ๆ เพียง 4 – 5 รู บริเวณหน้าท้องเพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัด ช่วยให้คนไข้ไม่เจ็บปวดมาก ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าความเจ็บปวดเกิดจากเส้นประสาทที่ผนังหน้าท้องไม่ใช่กระเพาะอาหาร ฉะนั้นเมื่อการผ่าตัดแผลเล็ก คนไข้จึงเจ็บน้อยกว่า ความเสี่ยงของแผลหลังการผ่าตัดก็น้อย ไม่ต้องกังวลว่าแผลจะแยก จะติดเชื้อ ทั้งหมดช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ นอกเหนือไปจากประสิทธิภาพในการผ่าตัดที่ไม่ต่างจากเดิม คนไข้เสียเลือดน้อยกว่าการเจาะเลือดตรวจก่อนการผ่าตัด เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า เทคโนโลยีการผ่าตัดทางการแพทย์ได้พัฒนาไปไกลแล้ว แพทย์เองก็มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านมากขึ้น การผ่าตัดในปัจจุบันจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
การผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติกับศูนย์สุขภาพสตรี
การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ รักษาได้แทบทุกโรค แต่ไม่ใช่กับคนไข้ทุกกรณี จำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยเป็นรายไป แต่มั่นใจได้ว่าแพทย์ย่อมแนะนำวิธีการรักษาที่ดีต่อคนไข้ ซึ่งเป็นสิทธิของคนไข้ที่จะสามารถเลือกวิธีการรักษาตามที่ต้องการได้”
การผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติกับศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติอำนวยความสะดวกให้แพทย์ในระบบทางเดินปัสสาวะมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ในระบบนี้ ไม่ว่าจะต่อมหมวกไต ไต ท่อไต หรือท่อปัสสาวะ จะอยู่หลังอวัยวะอื่นในช่องท้อง โดยเฉพาะในเพศชายที่มีต่อมลูกหมาก ซึ่งอยู่ลึกในอุ้งเชิงกราน แต่เดิมการผ่าตัดรักษาโรคในระบบนี้จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดท้อง เพื่อให้มองเห็นอวัยวะที่อยู่ลึกได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังต้องอาศัยเครื่องมือถ่างขยายระหว่างการผ่าตัด ทำให้คนไข้มีแผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ เจ็บมาก และฟื้นตัวช้า แต่เมื่อมีการคิดพัฒนากล้อง 2 มิติเข้ามาช่วยในการผ่าตัดตั้งแต่ปี 1982 ทำให้ศัลยแพทย์เห็นได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเปิดแผลกว้าง
กระทั่งปัจจุบันที่พัฒนากล้องต่อยอดมาเป็นระบบ 3 มิติที่มีการทำงานคล้ายดวงตาของคนเรา เพิ่มความลึกในการมองเห็น นอกเหนือจากกำลังขยายของเลนส์กล้อง ทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากที่นอกจากเอาเซลล์มะเร็งออกแล้วยังต้องเชื่อมต่อท่อปัสสาวะเข้ากับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้คนไข้กลับมาปัสสาวะได้เหมือนเดิม อีกทั้งที่ต่อมลูกหมากยังมีเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศและการกลั้นปัสสาวะ การได้เห็นเนื้อเยื่อและเส้นเลือดชัดเจน ทำให้การผ่าตัดตกแต่งและเชื่อมต่อทำได้อย่างละเอียดประณีตยิ่งขึ้น
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมการเจาะรูเล็ก ๆ แค่ 12 มิลลิเมตร เพียงไม่กี่รูก็สามารถผ่าตัดได้ แพทย์นำเครื่องมือลงไปได้อย่างไร อย่าลืมว่าเมื่อมีการคิดค้นกล้องช่วยในการผ่าตัด การพัฒนาขนาดของเครื่องมือแพทย์ย่อมได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย แม้โจทย์ในการผ่าตัด คือ การทำให้คนไข้หายจากโรคนั้น ๆ แต่กล้องแผลเล็ก 3 มิติยังมีการทำงานที่เหนือชั้นกว่าการผ่าตัดแบบเดิม คือ ช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลงหรือซ่อนแผลด้วยการนำเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดออกทางสะดือที่มีความยืดหยุ่นสูง หลังผ่าตัดจำนวนแผลเพียงไม่กี่รูก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก และหากไม่สังเกตก็อาจจะไม่เห็นแผล
ด้วยข้อดีของเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ ทำให้คนไข้ไม่กลัวหรือกังวลกับการผ่าตัดเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ผลดีคือ คนไข้ไม่เลื่อนวันผ่าตัดออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้โรคลุกลามหรือรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งถึงตอนนั้นผลการรักษาย่อมน้อยลงกว่าการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่างแน่นอน
ข้อควรรู้ก่อนและหลังการผ่าตัด
หากแพทย์วินิจฉัยว่าควรเข้ารับการผ่าตัด การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแบบส่องกล้องเหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป คือ
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์