ตาพร่ามัว ต้อกระจกอาจถามหา
2 นาทีในการอ่าน

แชร์
หากพูดถึงโรคต้อกระจก หลายคนมักคุ้นเคยและเข้าใจว่าเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่อายุตั้งแต่ 40 เป็นต้นไป และอาจเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยได้จากการใช้สเตียรอยด์และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อดวงตา ซึ่งอาการที่เป็นสัญญาณเตือนคือ ตาพร่ามัวและจะพร่ามัวลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการรู้เท่าทันเพื่อรับมือโรคต้อกระจกคือสิ่งที่ควรใส่ใจก่อนสูญเสียดวงตาที่คุณรัก
รู้จักต้อกระจก
โรคต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้แสงเข้าไปในดวงตาน้อยลง จอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจน การมองเห็นลดลงเรื่อย ๆ แม้โรคนี้จะไม่แพร่กระจายจากอีกข้างไปสู่อีกข้าง แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรงอาจทำให้มองไม่เห็นได้ในที่สุด
ตัวการต้อกระจก
ต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัยเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยจะพบตั้งแต่อายุ 40 – 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงและควบคุมได้ไม่ดีพอจะกระตุ้นเลนส์ให้ขุ่นขึ้นได้เร็วกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกันแต่ไม่เป็นโรคเบาหวาน
- การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์อาจกระตุ้นต้อกระจกบางชนิดได้
- อุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกบริเวณดวงตา
- การสูบบุหรี่
- การเผชิญกับแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการป้องกัน
- ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
อาการต้อกระจก
- ตาจะค่อย ๆ มัวลงอย่างช้า ๆ
- ตามัวเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง
- เห็นภาพซ้อน
- เห็นแสงไฟกระจาย
- มองภาพเป็นสีเหลือง
- เปลี่ยนแว่นตาบ่อย
รักษาต้อกระจก
ปัจจุบันการรักษาต้อกระจกทำได้ด้วยการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง (Phacoemulsification) โดยการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปสลายเพื่อนำเลนส์ตาที่ขุ่นหรือที่เรียกกันว่าลอกต้อออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาผ่าตัดเพียงไม่นาน ประมาณ 15 – 30 นาที แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 3 – 5 มิลลิเมตร ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ทันที แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการใส่เลนส์เทียม เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงเกิดภาวะม่านตาอักเสบ ต้อหินแทรกซ้อน หรือเบาหวานขึ้นตารุนแรง หลังจากลอกต้อกระจกอาจต้องใช้เลนส์สัมผัสหรือใส่แว่นตา โดยแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้พิจารณาการผ่าตัดรักษาตามอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจก
การดูแลหลังจากผ่าตัดต้อกระจกนั้น สิ่งสำคัญคือการระวังไม่ให้ติดเชื้อและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจักษุแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลเป็นระยะ ได้แก่
- สวมที่ครอบตาจนกว่าแพทย์จะให้เอาออก
- ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง
- ระวังการโดนลม ฝุ่น และแสงจ้า
- อย่าให้ดวงตาโดนน้ำ
- ห้ามขยี้ตา
- เลี่ยงกิจกรรมที่กระทบกระเทือนดวงตาตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งนี้หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ปวดตา ตาแดง มองเห็นแสงวูบวาบ มองเห็นจุดสีดำ เห็นภาพไม่ชัดเจน ฯลฯ ควรกลับมาพบแพทย์ทันที
ชะลอโรคต้อกระจก
โรคต้อกระจกไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากความเสื่อมตามวัย แต่สามารถดูแลดวงตาเพื่อยืดอายุความแข็งแรงและชะลอการเกิดโรคต้อกระจกได้ดังนี้
- สวมแว่นกันแดด เลี่ยงแสงแดดจ้า
- ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ
- งดการสูบบุหรี่
- ทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์
- ตรวจสุขภาพดวงตาทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
เพราะโรคต้อกระจกพบได้บ่อยในทุกครอบครัว พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพแนะนำว่า “หากอายุครบ 40 ปีควรมาตรวจตาปีละ 1 ครั้ง และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตา หากตามัวลงหรือสายตาเปลี่ยนจนผิดสังเกตควรต้องรีบมาทันที และสำหรับคนที่พบว่าตนเองเป็นต้อกระจกควรรีบเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยไว้จนรุนแรงเพราะอาจมีต้อหินแทรกซ้อนได้ ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตาและสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทุกช่วงวัย”
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.
แชร์