การผ่าตัดต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ

6 นาทีในการอ่าน
การผ่าตัดต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ

แชร์

เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ปัญหาการมองไม่ชัด ตาพร่ามัวเหมือนมีฝ้า หรือหมอกบัง มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมองอาจเข้ามาเยี่ยมเยือน การตรวจเช็กเพื่อดูความผิดปกติของดวงตาคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากพบว่าเป็นต้อกระจก การรักษาต้อกระจกโดยเร็วและเหมาะสมโดยจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการจะช่วยให้กลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง


ตรวจประเมินก่อนผ่าตัดต้อกระจกอย่างไร

  • จักษุแพทย์ตรวจตาอย่างละเอียดและส่งวัดเลนส์แก้วตาเทียม โดยการวัดความโค้งกระจกตาและความยาวลูกตา ก่อนขยายม่านตา เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องที่สุดไปคำนวณ และเลือกเลนส์ที่เหมาะสม เพื่อใส่ในตาและทำให้กลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง โดยจะมีการตรวจขยายม่านตา ดูลักษณะต้อกระจกและดูจอประสาทตาอย่างละเอียด และให้ข้อมูลเรื่องเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • แพทย์และพยาบาลสอบถามเรื่องโรคประจำตัวและยาที่ใช้ประจำ ยาบางประเภทควรหยุดก่อนการผ่าตัด เช่น ยา
    กลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ยาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ควรทานตามปกติ
  • กรณีถ้ามียาละลายลิ่มเลือด จักษุแพทย์จะปรึกษาอายุรแพทย์ว่าสามารถหยุดยา 5 – 7 วัน ก่อนผ่าตัดได้หรือไม่ แล้วแต่ชนิดของยา เช่น Aspirin (ASA), Plavix, Pletaal, Warfarin, Heparin

 

วิธีการผ่าตัดต้อกระจกเป็นอย่างไร

หากผู้ป่วยรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้น จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งมี 2 วิธี ได้แก่

  1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens)

    วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ทำภายใต้การหยอดยาชาหรือฉีดยาชาเฉพาะที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้
    1. จักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็ก ๆ ที่ขอบตาดำประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร แล้วสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก โดยเปิดถุงหุ้มเลนส์เป็นวงกลม และปล่อยพลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมด
    2. จักษุแพทย์ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงหุ้มเลนส์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนเหมือนก่อนเป็นต้อกระจก โดยจะเลือกเลนส์เทียมชนิดใดขึ้นกับความต้องการการใช้สายตาของผู้ป่วย เช่น เลนส์ชัดระยะเดียวหรือชัดหลายระยะ และลักษณะตาของผู้ป่วย เช่น ถ้ามีสายตาเอียงร่วมด้วยอาจใช้เลนส์เทียมชนิดแก้เอียง เป็นต้น
    3. แผลมีขนาดเล็กมากจึงสมานตัวเป็นปกติได้โดยไม่ต้องเย็บแผลในผู้ป่วยส่วนใหญ่
    4. ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นเมื่อเปิดตาในวันรุ่งขึ้นและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
    5. ผู้ป่วยต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าดวงตาหลังการสลายต้อกระจกตามระยะเวลาที่จักษุแพทย์กำหนด (2 – 4 สัปดาห์) พร้อมทำความสะอาดรอบดวงตา รับประทานยา และหยอดยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
      การผ่าตัดรักษาต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ
  2. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

    วิธีผ่าตัดต้อกระจกที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    • จักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มิลลิเมตรเพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเพียงถุงหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้ จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงนี้ แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล
    • เลนส์แก้วตาเทียมจะใช้เป็นแบบชัดระยะเดียว เพื่อการมองไกล มีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีวิต มากกว่า 95%ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้อกระจกและได้รับการใส่เลนส์แก้วตาเทียมจะมีสายตาที่ดีขึ้น

ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมมีแบบใดบ้าง

ปัจจุบันเลนส์สำหรับใส่ในการผ่าตัดด้วยเครื่องสลายต้อจะเป็นเลนส์เทียมที่สามารถพับได้ สามารถใส่เลนส์ผ่านแผลเล็ก ๆ ที่กระจกตาหลังสลายต้อกระจกแล้ว เลนส์แก้วตาเทียมมีหลายชนิด ชนิดหลัก ๆ คือชัดระยะเดียวกับแบบชัดหลายระยะ ซึ่งในแต่ละประเภทจะมีแบบที่สามารถแก้สายตาเอียงไปด้วยในตัวถ้าผู้ป่วยมีค่าสายตาเอียง ดังนี้

 เลนส์แก้วตาเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะสายตาเอียงจากกระจกตา

  1. เลนส์ชัดระยะเดียว หรือ Monofocal มีระยะชัดเพียงที่เดียว มักเลือกให้ชัดที่ไกล มองใกล้ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ
  2. เลนส์ชัดหลายระยะ หรือ Multifocal หลังผ่าสามารถมองได้ชัดในหลาย ๆ ระยะด้วยตาเปล่า ลดการพึ่งพาแว่นในการมองระยะต่าง ๆ ได้
    • เลนส์ชัด 2 ระยะ หรือ Bifocal และ EDOF สามารถเลือกได้ว่าจะชัดที่ไกลและใกล้ (อ่านหนังสือ) หรือ ไกลและกลาง (จอคอมพิวเตอร์) แล้วแต่ชนิดของเลนส์
    • เลนส์ชัด 3 ระยะ หรือ Trifocal จะมองเห็นระยะ ไกล กลาง และใกล้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น ลดการพึ่งพาแว่น

เลนส์แก้วตาเทียมสำหรับผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงจากกระจกตา

กรณีมีสายตาเอียงจากกระจกตาร่วมอยู่ด้วย หลังการตรวจจักษุแพทย์จะแนะนำให้เลือกเลนส์แก้สายตาเอียง (Toric Intraocular Lens) โดยจะเลือกชนิดระยะเดียวแบบแก้สายตาเอียงหรือหลายระยะแบบแก้สายตาเอียงตามความต้องการ ซึ่งทำให้หลังผ่าตัดภาพคมชัดมากขึ้น มีให้เลือกดังนี้

  1. เลนส์ชัดระยะเดียวแก้สายตาเอียงไปด้วย (Monofocal Toric) หลังทำมองไกลชัดเจนแก้สายตาเอียงด้วย แต่มองใกล้ยังต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ
  2. เลนส์ชัดหลายระยะแก้สายตาเอียง หรือ Multifocal Toric
    • เลนส์ชัด 2 ระยะแก้สายตาเอียง (Bifocal Toric และกลุ่ม EDOF Toric) เช่น ไกลและใกล้ หรือกลางและไกล และแก้สายตาเอียงไปด้วยพร้อมกัน
    • เลนส์ชัด 3 ระยะแก้สายตาเอียง (Trifocal Toric) จะมองเห็นระยะไกล กลาง และใกล้ และแก้สายตาเอียงไปด้วยพร้อมกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้แว่นหลังผ่าตัด


การผ่าตัดรักษาต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ

เตรียมตัวผ่าตัดต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล โดยการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่

  • ใส่เสื้อสวมสบายถอดใส่ง่าย
  • สระผมและล้างหน้าก่อนมาถึงโรงพยาบาล
  • เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะมีการหยอดยาชา ยาขยายม่านตา และยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าห้องผ่าตัด โดยยาชามีทั้งการหยอดยาชา หรือฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าด้านหลังลูกตา แต่ถ้ากลัวหรือกังวลสามารถดมยาสลบทำได้
  • ขณะผ่าตัดสลายต้อกระจกจะใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาที โดยทำในห้องผ่าตัดใหญ่ปลอดเชื้อ ผู้ป่วยจะรู้ตัวขณะผ่าตัด แต่จะรู้สึกผ่อนคลายและไม่เจ็บ อาจมีการเห็นแสงและการขยับไปมาของแสง หรือรู้สึกโดนกดตา แต่ไม่เจ็บเหมือนโดนมีดบาด
  • หลังผ่าตัดต้อกระจกเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยจะพักในห้องพักฟื้นประมาณ 30 นาทีแล้วจึงกลับบ้านได้ ในกรณีที่ไม่ได้ให้ยาสลบ กินยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ยังไม่ต้องเปิดตาหยอดยา

การผ่าตัดรักษาต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ

การดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจกทำอย่างไร

  • สวมแว่นตากันลมหรือแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันการขยี้ตาและป้องกันการเกิดการกระทบกระเทือนที่ดวงตา 
  • ก่อนนอนทุกคืนให้ครอบตาข้างที่สลายต้อกระจกด้วยฝาครอบตา เพื่อป้องกันการขยี้ตาในระหว่างการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ระวังอย่าให้ตาข้างนั้นโดนกระแทกโดยตรงอย่างรุนแรง
  • ห้ามน้ำเข้าดวงตาโดยเด็ดขาด ตามระยะเวลาที่จักษุแพทย์กำหนด (อย่างน้อย 2 สัปดาห์)
  • ป้องกันเชื้อโรคเข้าดวงตา โดยใช้น้ำเกลือและสำลีเช็ดตาแทนการล้างหน้า
  • ไม่ควรสระผมด้วยตนเอง ควรนอนหงายให้ผู้อื่นสระผมให้ และในขณะสระผมควรหลับตา เพื่อป้องกันน้ำที่อาจกระเด็นเข้าดวงตาได้
  • เช็ดทำความสะอาดดวงตาตามวิธีที่จักษุแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ตรวจตาตามนัดของจักษุแพทย์ทุกครั้ง เช่น หลังผ่าตัด 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุก ๆ ปีหลังผ่าตัด
  • ห้ามยกของหนัก
  • ระวังเรื่องการไอ จาม หรือเบ่งแรง ๆ ท้องผูก

 

ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังผ่าตัดต้อกระจกคืออะไร

  • หลังผ่าตัดระยะแรกต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งพบได้น้อยแต่อันตราย การหยอดยาและดูแลความสะอาดตาอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้มาก
  • ภาวะจุดรับภาพบวมหลังผ่าตัด เกิดได้บ้างหลังผ่าตัดในระยะเกิน 1 – 2 สัปดาห์ไปแล้ว โดยจะมีอาการตามัวลงหรือเห็นภาพเบี้ยว สามารถรักษาและกลับมาเป็นปกติได้
  • หลังผ่าตัดต้อกระจกเป็นระยะเวลานาน ถุงหุ้มเลนส์อาจมีการขุ่นหลังจากใส่เลนส์ไปเป็นเวลาหลายปี สายตาที่เคยเห็นได้ชัดเจนหลังผ่าตัดใหม่ ๆ จะค่อย ๆ มัวลงบ้าง จักษุแพทย์สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่มีความเจ็บปวด ด้วยการใช้เลเซอร์ (Yag Laser) เพื่อขจัดความขุ่นได้ทันที ทำให้กลับมาเห็นชัดเหมือนผ่าตัดใหม่ ๆ

 

โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาต้อกระจกที่ไหนดี

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลทุกปัญหาดวงตาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาต้อกระจก โดยเฉพาะการผ่าตัดด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) และการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เพื่อให้สุขภาพดวงตากลับมาแข็งแรง มั่นใจทุกการมองเห็น

 

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาต้อกระจก

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและศูนย์เลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

 

แพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจก

แพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจก ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ ราคาเริ่มต้นที่ 70,000 บาท

ดูแพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจกเพิ่ม คลิก


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์