ศูนย์อาชีวอนามัย

1. การตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชกรรม (Occupational Health Examinations)

  • การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (Pre – Employment Health Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมเบื้องต้นของผู้สมัครงาน
  • การตรวจสุขภาพก่อนบรรจุเข้าตำแหน่งงานหรือก่อนการเปลี่ยนงานของพนักงาน (Pre – Placement Health Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมสำหรับการบรรจุในตำแหน่งงานและลักษณะงาน ตัวอย่างการตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมในการทำงาน
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ (Confined Space)
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมในการทำงานนอกชายฝั่ง (Offshore)
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมสำหรับคนประจำเรือ (Seafarer)
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมในการทำงานขับรถ (Professional Driver)
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมในการทำงานบนที่สูง (Work at Height)
    • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมสำหรับงานดับเพลิง (Fire Fighter)
  • การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง (Periodic Health Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย ซึ่งตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ “นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยการตรวจสุขภาพครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง” หากมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานหรือลักษณะงาน โดยที่ปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีการตรวจประเมินสุขภาพอีกครั้ง
  • การตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน (Retirement Health Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อทราบสภาวะสุขภาพของพนักงานที่กำลังจะออกจากงาน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์สำหรับสถานประกอบการในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

2. การดูแลพนักงานกลับเข้าทำงาน (Return – to – Work Management)

Return – to – Work Management คือ การดูแลพนักงานกลับเข้าทำงาน เป็นการบริหารจัดการ วางแผน และประเมินพนักงานก่อนกลับเข้าทํางาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแลรักษาพนักงานภายหลังจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บที่มีการหยุดงาน โดยร่วมกับนายจ้างในการจัดการและช่วยเหลือด้านสภาพแวดล้อมการทำงานและลักษณะงานที่เหมาะสม เพื่อให้พนักงานสามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งมีการประเมินความพร้อมของพนักงานกลับเข้าทำงาน

ประโยชน์ของ Return – to – Work Management

  • พนักงานสามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
  • ลดอัตราการขาดงานหรือย้ายงานของพนักงาน
  • เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพจากการกลับเข้าทำงานของพนักงาน
  • ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจหรือลดความเครียดในการกลับเข้าทำงานของพนักงาน


ใครที่ควรทำ Return – to – Work Management

  • ผู้ที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรุนแรง หรือต้องหยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหรือการนอนโรงพยาบาลติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
  • ผู้ที่มีการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน และความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมงาน


ท่านจะได้รับการดูแลโดย…

ทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน ได้แก่ อาชีวแพทย์ พยาบาลอาชีวอนามัย ซึ่งสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน รวมทั้งแพทย์เฉพาะทางของสาขาต่าง ๆ ที่พร้อมให้การดูแล


3. การสอบสวนหาสาเหตุและการป้องกันเมื่อมีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน (Work – Related Injury and Illness Investigation and Prevention)


มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพพนักงานและเป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 “ข้อ 9 ในกรณีที่พบความผิดปกติของลูกจ้าง หรือลูกจ้างมีอาการหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และทำการตรวจสอบหรือหาสาเหตุของความผิดปกติเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน”

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ค้นหาพนักงานคนอื่นที่อาจเจ็บป่วยด้วยสาเหตุเดียวกันเพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที
  2. ป้องกันไม่ให้พนักงานคนอื่นเจ็บป่วยด้วยสาเหตุเดียวกัน
  3. ช่วยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมและปลอดภัย



4. โปรแกรมการป้องกันทางด้านอาชีวอนามัย 

4.1 มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation Program)

มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงานของพนักงานที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดังในสถานประกอบกิจการเป็นไปตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ ปี 2561


ควรดำเนินการเมื่อ…

พนักงานที่ทำงานในแผนกที่มีการตรวจวัดระดับเสียงเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง มีระดับเสียงเฉลี่ยตั้งแต่ 85 dBA ขึ้นไป (ตามกฎหมาย) หรือ 82 dBA ขึ้นไป (ตามมาตรฐานสากล)


การดูแลโดยทีมโรงพยาบาลกรุงเทพ 

โรงพยาบาลกรุงเทพช่วยจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาและสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย โดย

  1. กำหนดนโยบายการอนุรักษ์การได้ยินให้แก่สถานประกอบการ
  2. การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring) จัดทำแผนผังแสดงระดับเสียง (Noise Contour Map) มีการประเมินการรับสัมผัสเสียงดังทั้งแบบบุคคลและแบบพื้นที่
  3. การเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring) การตรวจสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องมือมาตรฐานสากล แปลผลสมรรถภาพการได้ยินตามกฎหมาย และช่วยสถานประกอบการในการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง
  4. จัดการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน ความสำคัญของการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน อันตรายของเสียงดัง การควบคุม ป้องกัน และการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
  5. ช่วยประเมินผลและทบทวนการจัดการมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ


บริการโดย

  • อาชีวแพทย์
  • พยาบาลอาชีวอนามัย
  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

4.2 การดูแลด้านการยศาสตร์เพื่อป้องกันโรคกระดูกและโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงาน (Ergonomic Program to Prevent Work – Related Musculoskeletal Disorders)

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนและสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อปรับสภาพของงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาพดี


เป้าหมาย

เพื่อลดการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของระบบกระดูกและโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงานในสถานประกอบการ

ประโยชน์

  1. ลดการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของระบบกระดูกและโครงร่างกล้ามเนื้อเนื่องจากการทำงาน
  2. ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
  3. ลดภาวะการขาดงานของพนักงานและการลาออก
  4. เพิ่มศักยภาพผลิตผลของพนักงานและลดการสูญเสียของชิ้นงาน


ประเมินและแนะนำโดย…

  • อาชีวแพทย์
  • พยาบาลอาชีวอนามัย
  • นักกายรศาสตร์
  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

5. โปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Program at The Workplace)


ทำไมต้องมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพให้กับพนักงาน

ทุกองค์กรล้วนมีเป้าหมายในการสร้างผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพย์สินที่มีค่าในการสร้างงานสร้างรายได้ หากแต่การดูแลสวัสดิการพนักงานก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่สำคัญ ถ้าองค์กรคำนึงถึง “ค่าใช้จ่ายทางตรง” เช่น ค่าสวัสดิการเบี้ยประกัน ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ และเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อาจเห็นว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ในความจริงแล้ว ยังมี “ค่าใช้จ่ายทางอ้อม” ที่มองไม่เห็น เช่น การขาดงานของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการหาคนทำงานแทน ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ หรือประสิทธิภาพที่เสียไปเมื่อพนักงานมาทำงานด้วยสภาวะร่างกายหรือจิตใจที่ไม่พร้อม ค่าชดเชยต่าง ๆ ฯลฯ

โดยเมื่อนำ “ค่าใช้จ่ายทางตรง” และ “ค่าใช้จ่ายทางอ้อม” มาคิดรวมกันทั้งหมดแล้วจะพบว่าหากเลือกใช้โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพให้กับพนักงาน เพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ตรงกับปัญหาหลักขององค์กร ทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้องค์กรที่เป็น “สถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน” (Healthy Workplace) มีประสิทธิภาพสูง ลดค่าใช้จ่ายได้จริง ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร


กระบวนการในการทำโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพให้กับพนักงานด้วยหลัก Health and Productivity Management (HPM)

อ้างอิงจาก ACOEM ; American College of Occupational and Environmental Medicine (ราชวิทยาลัยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา)

Step 1 ประเมินองค์กร
Step 2 ดูข้อมูลและตัวชี้วัดต่าง ๆ ขององค์กร
Step 3 วางแผนการดำเนินงาน
Step 4 ดำเนินกิจกรรมโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ
Step 5 ประเมินผลและปรับปรุงการดำเนินการ


ประโยชน์ของการจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพให้กับพนักงาน

  1. พนักงานมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น
  2. พนักงานมีความรักความผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น
  3. พนักงานที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น
  4. ค่าใช้จ่ายรวมในการดูแลพนักงานลดลง


ให้บริการโดย

  • อาชีวแพทย์
  • พยาบาลอาชีวอนามัย
  • ผู้ชำนาญการสหสาขาที่เกี่ยวข้อง

6. โปรแกรมการช่วยเหลือเบื้องต้นและการเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน (First Aid & Emergency Preparedness)

ภาวะฉุกเฉินในสถานประกอบการเป็นสภาวะคุกคามต่อพนักงาน ลูกค้า และสังคม ขัดขวางหรือทำลายการดำเนินกิจการเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากทั้งมนุษย์และภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม สารเคมีรั่วไหล โรคระบาด หรือการแพร่กระจายของสารเคมีชีวภาพ สารรังสี หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย พนักงานหรือคนงานอาจจำเป็นต้องรับมือกับภาวะฉุกเฉิน การวางแผนก่อนเกิดเหตุอย่างเหมาะสม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้มีการตอบโต้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องคนงานคือ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเพื่อวางแผนรับมือภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนล่วงหน้าช่วยให้ทุกคนรู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดเหตุ


ประโยชน์ที่ได้รับ

  • จัดเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • ปฏิบัติตามแผนของมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแต่ละอุตสาหกรรม


การให้บริการ

1. การช่วยเหลือเบื้องต้น (First Aid)

  • เดินสำรวจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการปฐมพยาบาลแก่สถานประกอบการ
  • จัดการฝึกอบรม First Aid ครอบคลุมถึง Basic Life Support และการใช้ AED แก่พนักงานในสถานประกอบการ
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งห้องพยาบาลในสถานประกอบการตามมาตรฐาน รวมถึงมาตรฐานในการเก็บข้อมูลสุขภาพ

2. จัดยาสามัญประจำที่กฎหมายกำหนดและความจำเป็น (First Aid Box)

3. การวางแผนรองรับภาวะฉุกเฉิน

  • ร่วมวางแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ประเมินภัยคุกคามทั้งด้านเคมี กายภาพ ชีวภาพ ผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ รายชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้รับผิดชอบในภาวะฉุกเฉิน การประสานกับองค์กรภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน การวางแผนจัดเตรียม Antidote ให้แก่สถานประกอบการ
  • ร่วมกำหนดแนวทางการฝึกอบรมภาวะฉุกเฉิน ความรับผิดชอบ และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ
  • ร่วมประเมินประสิทธิภาพของแผนฉุกเฉิน
  • ดูแลเรื่องการเฝ้าระวังสุขภาพและการประเมินความพร้อมก่อนกลับเข้าไปทำงานหลังเกิดภาวะฉุกเฉิน
  • ตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานหลังเกิดภาวะฉุกเฉิน

ให้บริการโดย
  • อาชีวแพทย์
  • แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  • พยาบาลอาชีวอนามัย
  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

7. ที่ปรึกษาของสถานประกอบการทางด้านอาชีวอนามัย (Occupational Health Consultation)

  • ให้คำปรึกษา การดูแล ป้องกันสิ่งคุกคามต่อสุขภาพของพนักงาน ป้องกันการเกิดโรคเหตุอาชีพ (Occupational Disease)
  • ให้คำปรึกษา ดูแลสุขภาพพนักงานเพื่อป้องกันโรคเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน (Work Related Disease) เช่น ระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ ความเครียดจากการทำงาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
  • ให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพทั่วไปในสถานประกอบการ

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์อาชีวอนามัย โรงพยาบาลกรุงเทพ
เฮลท์ดีไซน์เซ็นเตอร์ ชั้น 5 อาคาร R (Rehabilitation)
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.