การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ

เป็นการรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ ปล่อยเข้าไปในบริเวณเนื้อเยื่อ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจ พลังงานจากคลื่นวิทยุ จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ ไม่ให้สูงมากนัก ความร้อนที่ไม่สูงมากนี้ จะไม่ทำลายเซลหรือเนื้อเยื่อ แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน มีผลทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ต้องการ เกิดการหดตัวลง ด้วยหลักการนี้ จึงนำมาใช้ในการรักษาอาการกรน ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจาก การที่มีเนื้อเยื่อในช่องทางเดินหายใจ ที่ใหญ่หรือหนาตัวมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจโลงขึ้น เสียงกรน และภาวะหยุดหายใจ ขณะนอนหลับหายไป

สำหรับอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดคลื่นวิทยุนี้ เป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้รักษาโรคต่างๆ มานานมากกว่า 30 ปี โดยใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งไม่พบว่า มีผลเสียใดๆจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว จึงมั่นใจได้ว่า การนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการรักษาอาการกรน จะไม่ทำให้เกิดผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย

ข้อดีของการรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ ได้แก่

  • สามารถรักษาได้ทั้งเสียงกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • ใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องดมยาสลบ จึงไม่มีความเสี่ยงในการดมยาสลบ
  • ไม่เจ็บ โดยทั่วไป อาจมีเพียงอาการระคายคอ คัดจมูกบ้าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการรักษา
  • ใช้เวลาในการทำประมาณ 30 นาที ทำเสร็จแล้วกลับบ้านได้ ยกเว้น การทำบริเวณโคนลิ้น อาจจำเป็นต้องสังเกตอาการ ประมาณ 1 คืน
  • อัตราการได้ผล อยู่ในเกณฑ์ดี คือประมาณ 75-85%

ข้อจำกัดของการรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ ได้แก่

  • โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ ประมาณ 2 ครั้ง อาการต่างๆจึงจะดีขึ้น โดยมีระยะเวลาห่างกันแต่ละครั้ง ประมาณ 6-8 อาทิตย์
  • ผลการรักษาจะค่อยๆ ดีขึ้นทีละน้อย โดยเริ่มรู้สึกดีขึ้นหลังทำ ประมาณ 4 อาทิตย์ และอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้ผลสูงสุดที่ 6-8 อาทิตย์
  • นอกจากการใช้คลื่นวิทยุในการรักษาโรคนอนกรนแล้ว อุปกรณ์ชนิดนี้ยังสามารถใช้รักษา โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากภูมิแพ้ หรืออื่นๆ ที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อยากินได้อีกด้วย

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.