มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

5 นาทีในการอ่าน
มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แชร์

เรื่องเซ็กส์หรือการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะหากขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการป้องกันและดูแลตนเอง อาจเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และปัญหาสุขภาพภายในที่ตามมา เพราะฉะนั้นการมีเซ็กส์ให้เซฟไม่เพียงช่วยให้สุขทุกครั้งที่มีเซ็กส์ แต่ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้องระวังในปัจจุบัน

แม้จำนวนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเท่าเดิม แต่ด้วยความหลากหลายทางเพศส่งผลให้ไลฟ์สไตล์เรื่องเซ็กส์มีหลายรูปแบบ นำมาซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิด ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย ได้แก่ หนองในเทียม หนองใน ติดเชื้อ HPV ซิฟิลิส และติดเชื้อ HIV


หนองในเทียมเป็นอย่างไร

หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Chlamydia Trachomatis เป็นภาวะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด โดยมีต้นเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 7 – 21 วัน โดยส่วนใหญ่ผู้ชาย 50%มักไม่มีอาการ ผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกใสหรือมูกขาวขุ่นที่ปลายอวัยวะเพศ แสบคันที่ท่อปัสสาวะ หรือเจ็บอัณฑะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะทำให้ท่อนำอสุจิบวมจนถึงเป็นหมันได้ ในผู้หญิงส่วนใหญ่มากกว่า 70% มักไม่มีอาการ ผู้หญิงมีอาการปัสสาวะขัด ตกขาวมากกว่าปกติ เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะนำไปสู่อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดมีบุตรยาก เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมาตอนที่เป็นหนักแล้ว ดังนั้นการตรวจภายในทุกปีจึงมีความสำคัญ และในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการเปลี่ยนคู่นอน ควรตรวจคัดกรองทุก 3 – 6 เดือน เพราะจะได้รู้เท่าทันและรีบรักษา เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดเป็นหมันได้นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อบริเวณทวารหนักดวงตาทำให้เกิดเยื่อบุตาขาวอักเสบ


หนองในเป็นอย่างไร

หนองในเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า N.gonorrhoeae เป็นภาวะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากรองลงมา โดยมีต้นเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 1 – 14 วัน ในผู้ชายมักจะแสดงอาการ 2 – 5 วันภายหลังจากสัมผัส มีอาการเช่นเดียวกับหนองในเทียม คือมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกขุ่นเขียวหรือเหลือง หรือลักษณะคล้ายหนอง แสบคันที่ท่อปัสสาวะ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอักเสบ อัณฑะบวมอักเสบ ส่วนในเพศหญิงระยะเวลาฟักตัวไม่ชัดเจน แต่มีอาการหลังจากสัมผัสเชื้อประมาณ 10 วัน  โดยอาการจะมีปัสสาวะแสบขัด ตกขาวสีเขียวเหลือง แสบคัน เลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงมากกว่า 50% มักไม่มีอาการหรือมีเพียงตกขาวมากขึ้นเล็กน้อยจนกระทั่งนำไปสู่อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อบริเวณทวารหนัก ทำให้มีอาการคัน มีหนองไหลหรือเลือดซึมจากทวาร ปวดบิดหน่วงเวลาถ่าย บริเวณดวงตาทำให้เกิดเยื่อบุตาขาวอักเสบ ติดเชื้อบริเวณในคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ คอมีหนองหรือทอนซิลอักเสบมีหนอง หรือปวดข้อได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองทุกปีจึงมีความสำคัญ และในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการเปลี่ยนคู่นอน ควรตรวจคัดกรองทุก 3 – 6  เดือน จะได้รู้เท่าทันและรีบรักษา เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดเป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้


รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ HPV

การติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ หากติดต่อด้วยสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมักมาด้วยอาการหูดหงอนไก่และไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง แต่หากติดต่อด้วยสายพันธุ์รุนแรงจะไม่มีอาการ แต่จะพัฒนาไปสู่มะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งช่องปากและลำคอ ดังนั้นการตรวจคัดกรองเชื้อ HPV ทุก 1 – 3 ปีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย อีกทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรฉีดวัคซีน HPV ให้ครบ 3 เข็มเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีที่สุด ในกรณีที่เป็นแล้วหากรีบรักษามีโอกาสหายขาดได้


มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิสสังเกตได้อย่างไร

ซิฟิลิสมักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย Treponema Pallidum ในระยะแรกอาจจะมีแผลเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ และหายเองภายใน 3 – 6 สัปดาห์ ทำให้ชะล่าใจและไม่มาพบแพทย์ แต่แม้แผลจะหายเอง ถ้าไม่มาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อจะยังคงอยู่และแพร่ให้ผู้อื่นได้ อีกทั้งจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2 อาการมีผื่นนูนแดง ไม่เจ็บ สังเกตได้ชัดบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักลด ถ้าไม่ทำการรักษาจะพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง และระยะที่ 3 อาจส่งผลต่อหัวใจ เส้นเลือด ตา ตับ กระดูกและข้อ ประสาทและสมองอันตรายถึงชีวิตได้ ในภาวะที่เป็นการติดจากแม่สู่ลูกมักทำให้ทารกเกิดภาวะซีด พิการแต่กำเนิด เช่น ผิดปกติทางการได้ยิน หรือมีรูปร่างจมูกผิดปกติ หรือมีโครงสร้างฟันผิดปกติ จึงควรตรวจเลือดปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหรือสงสัยเป็นโรค หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอน หรือตั้งครรภ์ หรือตรวจพบว่าติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น และทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ซิฟิลิสนั้นยิ่งพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเป็นซิฟิลิสจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIVด้วย


ติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร

เชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวทีเซลล์ (T-Cell) ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าไม่ทำการรักษาจะนำไปสู่ภาวะ AIDS หรือโรคเอดส์ การติดเชื้อ HIV มักมาจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทางเลือด (ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน) หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ สิ่งที่ต้องรู้คือผู้ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นโรคเอดส์เสมอไป ถ้าทำการรักษา เชื้อ HIV จะอยู่ในร่างกายโดยไม่ก่อโรคและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ปัจจุบันการรักษาเป็นการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ลดการแพร่เชื้อ แนะนำให้ตรวจ HIV ปีละ 1 – 2 ครั้ง หรือหากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอน หรือตั้งครรภ์ หรือตรวจพบว่าเติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เพราะหากรู้ก่อน รักษาก่อน ย่อมช่วยลดความรุนแรงของโรคและสามารถรักษาให้มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงหรือเท่ากับผู้ไม่ติดเชื้อและลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้


ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร

วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

  • เลือกให้เป็น เลี่ยงให้ดี เลือกคู่นอน ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เลือกสถานที่เที่ยวให้เหมาะสม เลี่ยงกิจกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยง อย่างการมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มหรือเซ็กส์หมู่
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากป้องกันการติดเชื้อ HIV ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกโรค แต่ต้องเลือกที่มีคุณภาพผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • กินยาเซฟเซ็กส์ หากเผลอมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับยาป้องกันได้ โดยยา PrEP ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
  • เจาะเลือดทุกปี เพื่อตรวจเช็กสุขภาพและตรวจหาเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากพบปัญหารีบดูแลรักษาทันที
  • ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ บางคนแพ้ถุงยางอนามัย บางคนพลาดพลั้งมีอะไรกับคนแปลกหน้า บางคนไม่ถึงจุดสุดยอด และปัญหาเรื่องเซ็กส์อีกมากมาย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลตนเองอย่างเหมาะสมและช่วยให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

พญ.ปวรรัตน์ ตติรังสรรค์สุข อายุรแพทย์ คลินิกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

นพ.สุรชาติ ช่วยชบ อายุรแพทย์ คลินิกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมดูแลรักษาทุกปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อป้องกันดูแลและรักษาสุขภาพทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางเพศแบบห่างไกลโรค



สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกโรคติดเชื้อ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน 06.00 - 20.00 น.

แชร์