นวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplant ความหวังใหม่กับการรักษาโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก

10 นาทีในการอ่าน
นวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplant ความหวังใหม่กับการรักษาโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก

แชร์

เพราะพ่อแม่ทุกคนอยากเห็นอนาคตลูกสดใสพร้อมกับการมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่โรคเลือดและโรคมะเร็งถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอุบัติการณ์สูงถึง 1,200 รายต่อปี โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันโดยเฉลี่ยร้อยละ 94 และอัตราการรอดชีวิตจะลดลงเหลือร้อยละ 92 ในเด็กที่อายุ 5 – 15 ปี อีกโรคที่พบได้บ่อยคือ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หากมีอาการรุนแรงจะมีภาวะซีดร่วมกับตับโต ม้ามโต และต้องได้รับเลือดเป็นประจำ ด้วยนวัตกรรมการรักษาโดยใช้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplant คือการใช้เซลล์ต้นกำเนิดฯ จากพ่อแม่ หรือผู้ที่มี HLA (เนื้อเยื่อ) ตรงกับผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียว เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาโรคเลือดและโรคมะเร็งเลือดในผู้ป่วยเด็กเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาดและคืนคุณภาพชีวิตให้พร้อมเติบโตอีกครั้ง  

 

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cell Transplantation หรือ HSCT) คือ การทดแทนเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกเพื่อรักษาโรคชนิดต่าง ๆ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้มาจากการเจาะเก็บจากไขกระดูก การเก็บจากเลือด หรือการเก็บเลือดจากสายสะดือรก โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด คือ 

  1. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดตนเอง (Autologous Hematopoietic Stem Cell Transplantation) เป็นการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวผู้ป่วยเอง 
  2. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดผู้อื่น (Allogeneic Hematopoietic Stem Cell Transplantation) เป็นการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่น้องร่วมบิดามารดา (Related Donor) หรือจากสภากาชาดหรือหน่วยงานอื่น (Unrelated Donor) โดยผู้บริจาคต้องมีเนื้อเยื่อเข้ากันได้กับผู้ป่วยจากลักษณะทางหมู่เนื้อเยื่อ หรือ Human Leukocyte Antigen (HLA) อย่างไรก็ตามการหาผู้บริจาคที่เหมาะสมอาจยากและใช้เวลา เนื่องจากโอกาสของผู้ป่วยที่จะมีผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่มี HLA Matching มีน้อย ไม่ว่าจากผู้บริจาคที่มีหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดก็ตาม ทำให้การดำเนินไปของโรครุนแรงมากขึ้นและผู้ป่วยหมดโอกาสได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา 

ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้บริจาคที่มีลักษณะทางหมู่เนื้อเยื่อเหมือนกันเพียงครึ่งเดียว (Haploidentical Hematopoietic Stem Cell Transplantation) โดยผู้บริจาคที่มี HLA Matching เหมือนกับผู้ป่วย 50% (Haploidentical Donor) อาจเป็นพี่น้อง พ่อหรือแม่ ซึ่งการปลูกถ่ายด้วยวิธีนี้จะช่วยให้หาผู้บริจาคที่เหมาะสมได้เร็วและง่ายขึ้น ทำให้เริ่มการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสการรักษาให้โรคหายขาดได้มากยิ่งขึ้น 


การปลูกถ่ายด้วยวิธี Haploidentical Transplantation กับการรักษาโรคเลือดและโรคมะเร็งเลือดในเด็กเป็นอย่างไร

การปลูกถ่ายด้วยวิธี Haploidentical Transplantation มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ในเด็ก ได้แก่ 

  • โรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง (Severe Aplastic Anemia) 
  • กลุ่มโรคทางภูมิคุ้มกันบกพร่องตั้งแต่กำเนิด (Primary Immunodeficiency) 

ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแพทย์จะพิจารณาจากชนิดและความรุนแรงหรือภาวะของโรครวมทั้งชนิดของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดผู้บริจาครวมทั้งปัจจัยอื่นๆของผู้ป่วยแต่ละรายร่วมด้วย


นวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี HAPLOIDENTICAL TRANSPLANT

ขั้นตอนการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplantation ทำอย่างไร

  • ตรวจสุขภาพผู้ป่วยและผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพื่อให้มั่นใจว่าพร้อมรับการรักษา เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อ ตรวจการทำงานของหัวใจ เอกซเรย์ปอด ค่าการทำงานของตับและไต ตรวจการได้ยินและการมองเห็น รวมทั้งอาจต้องมีการตรวจไขกระดูกและน้ำไขสันหลังเพื่อให้มั่นใจว่าโรคสงบก่อนการปลูกถ่าย ในเด็กบางรายอาจต้องตรวจพัฒนาการเพิ่มเติม ส่วนผู้บริจาคจะได้รับการตรวจเลือด ตรวจการติดเชื้อ เอกซเรย์ปอด และค่าการทำงานของตับและไต
  • เตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ผู้ป่วยจะได้รับสูตรยาเคมีบำบัดขนาดสูงเรียกว่า Conditioning Regimens หรือ Preparative Regimen ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำ (อาจร่วมกับการฉายรังสีเพื่อทำลายไขกระดูกเดิม) โดยเฉลี่ย 8 – 10 วัน ขึ้นกับชนิดโรค เพื่อกดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำลายเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกให้หมดไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพิ่มโพรงช่องว่างในไขกระดูกสำหรับรองรับเซลล์ต้นกำเนิดฯ ใหม่ที่จะใส่เข้าไปให้มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก่อนเริ่มการปลูกถ่าย ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิเพื่อกดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและลดการต่อต้านเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้บริจาค 
  • สำหรับผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะได้รับการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวประมาณ 4 – 5 วัน และจะเก็บเซลล์โดยใช้เครื่องเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและนำมาให้กับผู้ป่วย
  • เริ่มให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้บริจาคเข้าไปในตัวผู้ป่วย โดยผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำ ซึ่งวิธีการจะคล้ายกับการให้เลือด แต่ต้องมีการติดตามสัญญาณชีพและอาการอย่างใกล้ชิดในขณะที่มีการให้เซลล์ต้นกำเนิดแก่ผู้ป่วย โดยเซลล์ต้นกำเนิดใหม่จะเข้าสู่กระแสเลือดและโพรงไขกระดูกของผู้ป่วย ซึ่งจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงและทำหน้าที่ได้เต็มที่ (Engraftment) โดยทั่วไปจะใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์
  • ในระหว่างการปลูกถ่าย ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในห้องปลูกถ่ายที่ปลอดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเป็นห้องแรงดันบวกที่ติดตั้งเครื่องกรองเชื้อโรคแบบประสิทธิภาพสูง ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าระวังและการป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น การได้รับยาป้องกันการติดเชื้อ ผลิตภัณฑ์ของเลือดที่ผ่านการเตรียมพิเศษ ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว รวมทั้งยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันภาวะเซลล์ผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ผู้ป่วย (Graft Versus Host Disease หรือ GVHD) โดยเฉลี่ยผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับผลการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย 
  • แพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจผลเลือดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 100 วันแรก เพื่อติดตามผลการรักษา และเพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อแทรกซ้อน เม็ดเลือดต่ำ และแผลในช่องปาก

วิธีการดูแลผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์สหสาขา ได้แก่ กุมารแพทย์โลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา กุมารแพทย์ กุมารแพทย์เวชบำบัดวิกฤติ รวมทั้งพยาบาลและเภสัชกรคลินิกเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 

นอกจากนี้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดยังต้องทำในห้องปลอดเชื้อ HEPA ที่มีแรงดันบวก ภายใต้การดูแลของหอผู้ป่วยพิเศษเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ที่สำคัญคือความพร้อมในการป้องกันและรักษาภาวะเซลล์ผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ผู้ป่วย (Graft Versus Host Disease หรือ GVHD) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยใช้ Photopheresis ซึ่งเป็นนวัตกรรมการฉายรังสีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านปฏิกิริยาแพ้ไขกระดูก โดยยับยั้งการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่ให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ไขกระดูก เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างการรักษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการดูแลแบบองค์รวมโดยแพทย์และบุคลากรสาขาอื่น ๆ เช่น แพทย์โภชนบำบัด นักโภชนาการ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ที่คำนึงถึงร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเด็กเป็นสำคัญ


นวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี HAPLOIDENTICAL TRANSPLANT

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะรักษาโรคต่างๆ ให้หายขาดได้ แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามมาได้ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนในระยะที่ได้รับยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา อาจมีอาการ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว และปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นอาการที่สามารถป้องกันหรือรักษาได้


ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในระยะช่วงแรกหลังได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร

  1. การติดเชื้อ ระยะ 2 – 3 สัปดาห์แรกจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา โดยเฉพาะในช่วงที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ถึงแม้ว่าเม็ดเลือดขาวมีจำนวนปกติและผู้ป่วยกลับบ้านได้ ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ โดยเฉพาะในระยะ 1 ปีแรก เพราะผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ ภูมิคุ้มกันผู้ป่วยจะกลับปกติต้องใช้เวลานานประมาณ 1 – 2 ปี ผู้ป่วยเกือบทุกคนมักมีไข้หลังได้รับเซลล์ต้นกำเนิด แพทย์จะทำการหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดไข้ และจะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อโรคที่พบบ่อยไปก่อน จนกว่าผลการเพาะเชื้อกลับมาจึงปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม
  2. เม็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดและมีจุดจ้ำเลือดขึ้นตามตัว มีเลือดออกตามไรฟันหรือที่อื่นๆ ได้ เกิดจากเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำ ระหว่างรอให้เซลล์ต้นกำเนิดผู้บริจาคทำงานเต็มที่ ผู้ป่วยจะได้รับเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ
  3. แผลในช่องปากและทางเดินอาหาร เป็นผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปาก กลืนเจ็บ กินอาหารไม่ได้ มักเกิดขึ้นใน 2 สัปดาห์แรกหลังได้รับเซลล์ต้นกำเนิด ถ้ามีอาการมากอาจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ แผลบริเวณทางเดินอาหารนี้เป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อลุกล้ำตามมา ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
  4. ภาวะเซลล์ผู้บริจาคทำปฏิกิริยาต่อเซลล์ผู้ป่วย (Graft Versus Host Disease หรือ GVHD) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันคือ เกิดขึ้นในระยะ 100 วันแรกหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดฯ (Acute GVHD) ผู้ป่วยอาจมีผื่นแดงตามตัว ท้องเสียหรือการทางานของตับบกพร่องร่วมด้วย และแบบเรื้อรัง เกิดขึ้นในระยะมากกว่า 100 วันหลังปลูกถ่ายฯ (Chronic GVHD) ผู้ป่วยอาจมีผื่นผิวหนัง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของชั้นใต้ผิวหนัง การทำงานของตับบกพร่อง ตาแห้ง เยื่อบุปากแห้งและเป็นแผล ปวดท้อง น้ำหนักลด ปวดตามข้อ และการทำงานของปอดผิดปกติ
  5. ภาวะมีน้ำคั่งในร่างกาย (Veno – Occlusive Disease) ซึ่งเป็นผลจากยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาในระยะเตรียมผู้ป่วยก่อนได้รับเซลล์ต้นกำเนิด ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักเพิ่ม เหลือง ตับโต และเจ็บ มีน้ำคั่งในท้อง มักเกิดในระยะ 2 สัปดาห์ – 1 เดือนแรกหลังได้รับเซลล์ต้นกำเนิด

ผลการรักษาเพื่อความหวังใหม่กับการรักษาโรคเลือดและมะเร็งเลือดในเด็ก

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถทดแทนเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกเพื่อใช้ในการรักษาโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคอื่น ๆ ในเด็กให้มีโอกาสหายขาดมากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการปลูกถ่ายแบบ Haploidentical Transplant ที่ต้องการผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่มี HLA เข้ากับผู้ป่วยเพียงร้อยละ 50 เช่น พ่อแม่สามารถทำให้หาผู้บริจาคได้เร็วขึ้น ส่งผลให้การรักษาเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในเด็กขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคที่เป็น รวมทั้งความพร้อมทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย 

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplant ทำให้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเด็กภายหลังการปลูกถ่าย 1 ปีได้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยมีอัตราการเสียชีวิตหลังการปลูกถ่ายไขกระดูกจากการติดตามผล 100 วันต่ำมาก ที่สำคัญการรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเด็กโรคเลือดและโรคมะเร็งเลือดหายขาดจากโรค โดยมีอัตราการกลับมาเป็นโรคซ้ำต่ำ พร้อมกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมเติบโตต่อไป


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก

.นพ.สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ

นพ.พงศ์ภัค พงศ์พิชชา กุมารแพทย์โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplantation

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดด้วยวิธี Haploidentical Transplantation เพื่อรักษาโรคเลือดและมะเร็งเลือดในเด็กที่ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ 

  • ให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยเด็ก อายุตั้งแต่ 1 – 15 ปี ที่มีโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และมะเร็งเลือด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือด โดยทีมกุมารแพทย์โลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา กุมารแพทย์ และทีมสหสาขา
  • ให้คำปรึกษาและบริการตรวจหาความเข้ากันของเนื้อเยื่อ (HLA) เพื่อใช้ในการพิจารณาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  • ให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่ใช้ในโรคเลือดที่เตรียมโดยเภสัชกรเฉพาะทาง ภายใต้การดูแลจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามประสิทธิภาพระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยา
  • ให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้ป่วยเด็กตามมาตรฐานสากล พร้อมด้วยห้องปลอดเชื้อความดันบวกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากภายนอก ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูง

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคือความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถรักษาผู้ป่วยเด็กโรคเลือดให้มีโอกาสหายเพิ่มมากขึ้นและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง การรักษาจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ ประสบการณ์ของแพทย์ผู้ชำนาญการ ห้องปลอดเชื้อแบบพิเศษ รวมทั้งความพร้อมของโรงพยาบาล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับผลการรักษาที่ดีพร้อมคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น


ข้อมูล : 

  • .นพ.สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โรคเลือดและมะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • นพ.พงศ์ภัค พงศ์พิชชา กุมารแพทย์โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ

Reference: 

Anurathapan U, Tim-Aroon T, Zhang W, Sanpote W, Wongrungsri S, Khunin N, Chutipongtanate S, Chirdkiatgumchai V, Ngiwsara L, Jaovisidha S, Khongkraparn A, Pakakasama S, Svasti J, Setchell KDR, Wattanasirichaigoon D, Hongeng S. Comprehensive and long-term outcomes of enzyme replacement therapy followed by stem cell transplantation in children with Gaucher disease type 1 and 3. Pediatr Blood Cancer. 2023;70:e30149.

Anurathapan U, Hongeng S, Pakakasama S, Songdej D, Sirachainan N, Pongphitcha P, Chuansumrit A, Charoenkwan P, Jetsrisuparb A, Sanpakit K, Rujkijyanont P, Meekaewkunchorn A, Lektrakul Y, Iamsirirak P, Surapolchai P, Sirireung S, Sruamsiri R, Wahidiyat PA, Andersson BS. Hematopoietic Stem Cell Transplantation for Severe Thalassemia Patients from Haploidentical Donors Using Novel Conditioning Regimen. Biol Blood Marrow Transplant. 2020:26:1106. 

Anurathapan U, Hongeng S, Pakakasama S, Sirachainan N, Songdej D, Chuansumrit A, Charoenkwan P, Jetsrisuparb A, Sanpakit K, Rujkijyanont P, Meekaewkunchorn A, Lektrakul Y, Iamsirirak P, Surapolchai P, Satayasai W, Sirireung S, Sruamsiri R, Wahidiyat PA, Ungkanont A, Issaragrisil S, Andersson BS. Hematopoietic stem cell transplantation for homozygous β-thalassemia and β-thalassemia/hemoglobin E patients from haploidentical donors. Bone Marrow Transplant. 2016;51:813.

Anurathapan U, Pakakasama S, Mekjaruskul P, Sirachainan N, Songdej D, Chuansumrit A, Charoenkwan P, Jetsrisuparb A, Sanpakit K, Pongtanakul B, Rujkijyanont P, Meekaewkunchorn A, Sruamsiri R, Ungkanont A, Issaragrisil S, Andersson BS, Hongeng S. Outcomes of thalassemia patients undergoing hematopoietic stem cell transplantation by using a standard myeloablative versus a novel reduced-toxicity conditioning regimen according to a new risk stratification. Biol Blood Marrow Transplant. 2014;20:2066.

Anurathapan U, Pakakasama S, Rujkijyanont P, Sirachainan N, Songdej D, Chuansumrit A, Sirireung S, Charoenkwan P, Jetsrisuparb A, Issaragrisil S, Ungkanont A, Sruamsiri R, Srisala S, Andersson BS, Hongeng S. Pretransplant immunosuppression followed by reduced-toxicity conditioning and stem cell transplantation in high-risk thalassemia: a safe approach to disease control. Biol Blood Marrow Transplant. 2013;19:1259.

Tannumsaeung S, Anurathapan U, Pakakasama S, Pongpitcha P, Songdej D, Sirachainan N, Andersson BS, Hongeng S. Effective T-cell Replete Haploidentical Stem Cell Transplantation for Pediatric Patients with High-risk Hematologic disorders. Eur J Haematol. 2023;110:305-312.


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แชร์