นอนกรนอย่าคิดว่าไม่สำคัญ

2 นาทีในการอ่าน
นอนกรนอย่าคิดว่าไม่สำคัญ

แชร์

น่าแปลกที่คนนอนกรนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริงแล้วการนอนกรนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งตัวผู้กรนเองและรบกวนต่อผู้ที่อยู่ด้วย ซึ่งหากไม่ตรวจเช็กและดูแลรักษาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ หากพบภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นหากรู้ตัวว่านอนกรนควรได้รับการตรวจว่าการกรนนี้มีอันตรายหรือไม่

 

นอนกรนใครก็เป็นได้

การกรนเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เมื่อหายใจแต่ละครั้งเกิดการสั่นและมีเสียงกรนเกิดขึ้น ซึ่งความเบาและดังไม่แน่นอน และบางครั้งอาจเงียบหายไปจากการที่ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้หลับไม่ลึก หัวใจทำงานหนัก เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองตีบ ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ง่วงเพลียตอนกลางวัน อารมณ์ไม่คงที่ และปัญหาสุขภาพอีกมากมาย โดยเฉพาะในเด็กที่นอนกรนจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย การเรียนรู้ และอารมณ์ ดังนั้นจึงไม่ควรชะล่าใจและรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา


กรนแบบไหนน่าเป็นห่วง

  • กรนเสียงดังมาก จนอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ต่อผู้ใกล้ชิด
  • กรนสลับกับหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ
  • กรนแล้วสะดุ้งเฮือก สำลักน้ำลาย หายใจไม่ออก
  • รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่นแม้ว่าชั่วโมงการนอนจะเพียงพอ
  • ปวดมึนศีรษะแทบทุกเช้า
  • ง่วงมากในตอนกลางวัน อาจเคยมีประวัติการเกิดอุบัตเหตุจราจรจากความง่วงนอน
  • ปากแห้ง คอแห้ง เจ็บคอเมื่อตื่นนอน 
  • นอนกัดฟัน
  • ในเด็กอาจพบลักษณะตัวเล็กต่ำกว่าเกณฑ์ สมาธิไม่ดีจากการพักผ่อนไม่พอ

กลุ่มเสี่ยงนอนกรน

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่ป่วยเป็นภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ
  • ผู้ที่ต่อมทอนซิลโต
  • ผู้ที่สันจมูก รูปหน้า คางสั้นผิดปกติ
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้หญิงที่เข้าวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่กินยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน

นอนกรนอย่าคิดว่าไม่สำคัญ

ตรวจวินิจฉัยนอนกรน

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เจาะเลือด ตรวจรังสี รวมถึงพิจารณาการตรวจการนอนหลับชนิดค้างคืนในโรงพยาบาล (Full-night Sleep Test) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าอาการนอนกรนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ หรืออาจพิจารณาการตรวจการนอนหลับแบบตรวจที่บ้าน เช่น Home-sleep test หรือ Watch-pat ในบางราย เพื่อใช้ข้อมูลการตรวจในการพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


รักษาภาวะนอนกรน

  • ปรับพฤติกรรม อย่างการลดน้ำหนัก การนอนตะแคง การเข้านอนให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ฯลฯ
  • ใช้เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เพื่อขยายช่องทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
  • การผ่าตัด ช่วยรักษาอาการกรนได้ดี แต่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น โดยจะพิจารณาในผู้ป่วยแต่ละบุคคล

     

หากมีภาวะนอนกรนอย่าละเลย เพราะปัญหาสุขภาพที่ตามมาอาจใหญ่กว่าที่คิด และการรักษาที่เหมาะสมสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและคุณภาพการนอนได้ ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กสุขภาพการนอนหลับ


ถ้าอยากรู้เบื้องต้นว่าคุณเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
สามารถเข้าไปตอบคำถาม STOP – BANG เพื่อคัดกรองภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง คลิก

ดูแพ็กเกจเพิ่มเติม คลิก


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์