ถาม - ตอบเรื่องท้องผูกเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้จนเป็นริดสีดวง

4 นาทีในการอ่าน
ถาม - ตอบเรื่องท้องผูกเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้จนเป็นริดสีดวง

แชร์

เวลาที่ท้องผูกหลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ สามารถรักษาหายได้เอง เพียงปรับพฤติกรรม รับประทานยาระบาย แต่ถ้าเป็นท้องผูกบ่อยจนเรื้อรังแล้วไม่รีบรักษาให้ถูกต้องอาจกลายเป็นโรคริดสีดวงได้ เพราะฉะนั้นควรรู้ระวังรับมือให้ถูกต้องก่อนรบกวนการใช้ชีวิต

ท้องผูกเรื้อรังรู้ได้อย่างไร

ท้องผูกเรื้อรังสามารถสังเกตได้จากการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรือท้องผูก โดยมีจำนวนครั้งในการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ร่วมกับลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้อนแข็งขึ้น ต้องออกแรงเบ่งแต่ถ่ายไม่ออก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด ต้องใช้มือช่วยขณะถ่ายอุจจาระ มีการใช้ยาระบายอยู่เรื่อย ๆ และมีอาการติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป


สาเหตุของท้องผูกเรื้อรังคืออะไร

สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยดูจากอาการของผู้ป่วย แบ่งออกเป็น

  1. สาเหตุทางกายภาพ ทำให้ลำไส้เล็กลงหรือมีการอุดตัน เช่น เนื้องอกบริเวณลำไส้ใหญ่ พังผืดรัดลำไส้ในช่องท้องหลังผ่าตัด เป็นต้น
  2. สาเหตุจากการทำงานของลำไส้ผิดปกติแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มได้แก่
    • ลำไส้ทำงานน้อย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคทางระบบประสาท ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด ยากันชัก ยาลดความดันโลหิตบางชนิด กลุ่มยาทางจิตเวช เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย โรคลำไส้แปรปรวน มีอาการทั้งท้องผูกและท้องเสียอาจมีปัญหาเรื่องปวดท้องหรือท้องอืดร่วมด้วย
    • ลำไส้เคลื่อนที่ผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ ทำให้ถ่ายอุจจาระยาก ต้องเบ่งมาก เช่น ผู้ป่วยมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหรือภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ โรคลำไส้ย้วยหรือปลิ้น  

ตรวจวินิจฉัยท้องผูกเรื้อรังได้อย่างไร

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยท้องผูกเรื้อรังโดยซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจทางทวารหนัก บางกรณีอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้ ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดที่ใช้ในการขับถ่าย


ท้องผูกเรื้อรังรักษาได้อย่างไร

การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันคือหัวใจสำคัญในการรักษาท้องผูกเรื้อรัง แนะนำให้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน อย่างน้อยครั้งละ 1 – 2 แก้วต่อมื้ออาหารและก่อนนอน  
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้ควรมีติดตู้เย็นไว้เสมอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ลดการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นม รวมถึงอาหารกลุ่มเบเกอรี่
  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา ควรฝึกขับถ่ายให้เป็นนิสัย ไม่กลั้น ถ้ายังไม่ปวดอย่าพยายามเบ่งถ่าย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ดีขึ้น 
  • ใช้ยาระบาย เป็นการรักษาชั่วคราว โดยยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารแตกต่างกัน ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากมีโอกาสติดยาระบายได้
  • การผ่าตัดเอาลำไส้ออก ในกรณีที่เป็นเนื้องอก ลำไส้โป่งพอง หรือย้วยจนมีภาวะแทรกซ้อน 

ท้องผูกเรื้อรังส่งผลเสียอย่างไร

หากมีภาวะท้องผูกเรื้อรังไปนาน ๆ อาจส่งผลให้มีอาการหงุดหงิด ไม่สดชื่น รับประทานอาหารไม่ลง อืดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแสบร้อนบริเวณหน้าอกได้ นำไปสู่ความเสี่ยงอย่างโรคหัวใจกำเริบหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะเบ่งถ่าย ไส้เลื่อน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ริดสีดวงทวาร แผลปริรอบขอบทวาร หรือฝีคัณฑสูตร ลำไส้ผิดปกติ โป่งพอง ย้วย หรือร้ายแรงจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้


ริดสีดวงทวารหนักพบบ่อยแค่ไหน

ริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่พบได้บ่อยและสังเกตได้ยาก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ริดสีดวงภายนอกและริดสีดวงภายในตามตำแหน่งของริดสีดวง เกิดจากการโป่งหรือพองของกลุ่มเส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดขอดที่อยู่ใต้ผิวของเยื่อบุผนังบริเวณทวารหนัก จำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาให้ถูกต้อง สาเหตุมักเกิดจากท้องผูกเรื้อรัง พฤติกรรมถ่ายเบ่ง เข้าห้องน้ำนาน การตั้งครรภ์ โรคบางอย่าง เช่น ตับแข็ง ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น 


อาการริดสีดวงที่สังเกตได้เมื่อท้องผูกเรื้อรังเป็นอย่างไร

อาการริดสีดวงที่พบได้บ่อย ได้แก่ คัน มีก้อนหรือติ่งบริเวณทวารหนัก ถ่ายมีเลือดออกเป็นเลือดสด ปวดบริเวณทวารหนักหรือริดสีดวง หน้ามืดเวียนศีรษะจากการเสียเลือดเรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจและคุณภาพชีวิต เช่น วิ่ง เวลาไอจามแล้วก้อนริดสีดวงออกมารบกวน แม้โรคริดสีดวงทวารจะไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่อาจสับสนกับอาการแสดงในช่วงแรกได้ ถ้ามีอาการควรรีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 40 ปีจะได้ตรวจรักษาอย่างถูกต้อง


รักษาริดสีดวงทวารได้อย่างไร

การรักษาริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรง แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก โดยวิธีแรกคือ รักษาโดยไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาผู้ป่วยทุกระยะ ได้แก่ ปรับพฤติกรรมเรื่องท้องผูก ใช้ยารักษาริดสีดวง ยาระบาย ไฟเบอร์ ยาบำรุงเลือด ยาเหน็บ ถ้ามีอาการปวดให้นั่งแช่น้ำอุ่นเช้าและเย็น ครั้งละ 15 นาที ส่วนอีกวิธีคือการรักษาโดยการทำหัตถการหรือผ่าตัด


ถาม - ตอบเรื่องท้องผูกเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้จนเป็นริดสีดวง

การทำหัตถการและการผ่าตัดรักษาริดสีดวงเป็นอย่างไร

สำหรับการผ่าตัดรักษาริดสีดวงขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่

  • ริดสีดวงขนาดเล็ก (ระยะที่ 1 – 2) จะใช้วิธีฉีดยาเข้าไปบริเวณขั้วริดสีดวง (Sclerosing Therapy) หรือการใช้ยางรัด (Rubber Band Ligation)
  • ริดสีดวงขนาดกลาง (ระยะที่ 2 – 3) ทำการผ่าตัดได้หลายวิธี ประกอบไปด้วย 
    • การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์ เป็นทางเลือกที่นิยมมากขึ้น คล้ายกับการผ่าตัดแผลเล็ก โดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อย ๆ ฝ่อลง ได้ผลดี แต่ในระยะยาวมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
      ถาม - ตอบเรื่องท้องผูกเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้จนเป็นริดสีดวง 
    • การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH Stapler) เหมาะกับริดสีดวงทวารภายในที่มีหลายหัวและต้องไม่ใหญ่เกินไป เพราะต้องตัดเนื้อเยื่อโดยรอบ ถ้าตัดใกล้รูทวารจะตัดถูกผิวหนังด้านนอกด้วย ทำให้เจ็บ
    • การผ่าตัดริดสีดวงแบบใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เย็บเส้นเลือดริดสีดวง (Hemorrhoid Artery Ligation) เป็นการใช้เครื่องมืออัลตราซาวนด์ตรวจหาขั้วเส้นเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารแต่ละอันแล้วเย็บรวบผูกขั้วเส้นเลือดนั้น ๆ โดยไม่ได้ตัดเอาหัวริดสีดวงที่อักเสบออกไป
  • ริดสีดวงขนาดใหญ่ (ระยะที่ 3 – 4) รวมถึงริดสีดวงภายนอกอักเสบรุนแรง จะใช้วิธีผ่าตัดริดสีดวงแบบมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและสร้างปัญหาออก โดยรวบตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวริดสีดวงนั้น สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติหลังผ่าตัด ได้ผลดีในระยะยาวมากกว่าวิธีอื่น ๆ และมีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด บางครั้งมีการใช้เทคโนโลยีห้ามเลือด (Vascular Sealing Device) เพื่อลดการเสียเลือดและการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ

ยาสมุนไพรเพชรสังฆาต หัวไชเท้า หรือน้ำผึ้งช่วยรักษาโรคริดสีดวงได้หรือไม่

เพชรสังฆาตเป็นสมุนไพรไทยที่สามารถบรรเทาอาการริดสีดวงได้ ส่วนหัวไชเท้าผสมน้ำผึ้งนั้น ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และตำราแพทย์แผนไทยระบุตรงกันว่าไม่สามารถรักษาริดสีดวงให้หายได้


ออกกำลังกายช่วยลดอาการท้องผูกได้หรือไม่

การเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ และการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการบิด หรือการพับของช่วงเอว เมื่อทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งจะเป็นการนวดลำไส้ใหญ่ ช่วยให้มีการหดและคลายตัวที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ดีขึ้นได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์