ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

5 นาทีในการอ่าน
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

แชร์

โรคริดสีดวงทวารเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวและอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จึงไม่ควรละเลยและรีบดูแลตนเองอย่างถูกวิธี

ริดสีดวงทวารคืออะไร

ริดสีดวงทวาร คือ การมีกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพองและอาจยื่นออกมา


ริดสีดวงทวารมีกี่ชนิด

ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด และแต่ละชนิดมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ได้แก่

1) ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงทวารที่เกิดภายในรูทวาร ซึ่งอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ ถูกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน แบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 : ริดสีดวงอยู่ภายในและไม่มีการยื่นออกมานอกทวารหนัก
  • ระดับที่ 2 : ริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักเมื่อถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปด้านในเองได้
  • ระดับที่ 3 : ริดสีดวงยื่นออกมานอกทวารหนักและต้องใช้มือดันกลับเข้ าไปด้านใน
  • ระดับที่ 4: ริดสีดวงยังคงยื่นออกมานอกทวารหนัก แม้จะใช้มือดันกลับเข้าไปแล้วก็ตาม

2) ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบ ๆ ทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวด ผู้ป่วยจึงมักมาด้วยอาการปวด แม้ไม่มีการแบ่งระดับความรุนแรงชัดเจนเหมือนริดสีดวงทวารภายใน แต่มีอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บปวด บวม อักเสบ เลือดออก ฯลฯ


ริดสีดวงทวารเกิดจากสาเหตุใด

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา
  2. อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพต้องยืนนาน ๆ มีผลทำให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียว แต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรคริดสีดวงได้
  3. โรคแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น โรคตับแข็งหรือโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก

อาการริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร

  • ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้าท้องผูกมีโอกาสเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้น เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็นมากขึ้น แต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง
  • ระยะที่ 3 เวลาถ่ายอุจจาระ หัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอ ยกสิ่งของหนัก ๆ เกิดการเบ่งในท้องเกิดขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือดันกลับเข้าไปถึงจะเข้าไปอยู่ภายในทวารหนักได้
  • ระยะที่ 4 ริดสีดวงมองเห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจน สามารถพบร่วมกับอาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน ได้แก่ มีเลือดออก ก้นแฉะ และอุจจาระปนออกมา ทำให้เกิดการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันร่วมด้วย หากการอักเสบมากยิ่งขึ้น การติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย และเมื่อเลือดออกมาเรื่อย ๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะจนเกิดอาการหน้ามืด

ตรวจวินิจฉัยริดสีดวงทวารอย่างไร

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีเลือดสดออกทางทวารหนักระหว่างที่ถ่ายอุจจาระ สังเกตได้จากการมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกมาเป็นหยด ทั้งนี้อาจจะมีอาการเจ็บทวารหนักหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดอาการอักเสบหรือหัวยื่นออกมาข้างนอก อาจรู้สึกเจ็บรุนแรงจนทำให้ยืน นั่ง หรือเดินไม่สะดวก และอาจคลำพบก้อนเนื้อที่เป็นหัวบริเวณปากทวารหนักในรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดจากการเสียเลือดได้

 

" "

รักษาริดสีดวงทวารอย่างไร

การรักษาริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วย ประกอบไปด้วย

  1. ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินผักผลไม้มาก ๆ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย
  2. ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 10 – 15 นาที และใช้ยาเหน็บหรือยาทาริดสีดวงทวารเพื่อบรรเทาเป็นเวลาประมาณ 7 – 10 วัน
  3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาผ่าตัดริดสีดวง
  4. ถ้าหัวริดสีดวงออกมาข้างนอกให้ใช้ปลายนิ้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าดันกลับไม่ได้แนะนำให้ไปโรงพยาบาล
  5. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรพบแพทย์และส่องกล้องตรวจทวารหนักถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่
  6. ถ้าเป็นมากอาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
    • การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไป วิธีนี้สะดวก ไม่เจ็บปวด มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง
    • ใช้ยางรัด ทำให้หัวฝ่อ
    • ใช้แสงเลเซอร์รักษา
    • รักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร

การผ่าตัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อาจถูกใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่สามารถบรรเทาอาการได้หรือมีภาวะที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน ได้แก่

  1. การผ่าตัดริดสีดวงทวาร (Hemorrhoidectomy)
    มักใช้เมื่อริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่ หรือมีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยการผ่าตัดนี้จะทำการตัดเนื้อเยื่อริดสีดวงทวารที่มีปัญหาออก หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวหลังผ่าตัดระหว่าง 1 – 2 สัปดาห์ โดยต้องระวังการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก และการดูแลแผลผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง



  2. การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ (Laser Hemorrhoidoplasty / Laser Hemorrhoidectomy)
    การผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์เป็นการใช้แสงเลเซอร์ในการตัดและทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยแสงเลเซอร์จะช่วยตัดเนื้ออย่างถูกต้องตรงตำแหน่ง ลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด และลดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีข้อดีมากมาย ได้แก่
    • ลดความเจ็บปวด การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์เจ็บปวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
    • ลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด เพราะการใช้เลเซอร์ช่วยให้ตัดเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้อง
    • ตรงตำแหน่ง การใช้เลเซอร์สามารถตัดเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อรอบข้าง
    • ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า เจ็บน้อยกว่า กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของริดสีดวงและจำนวนริดสีดวงของผู้ป่วยแต่ละราย

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไร

  1. ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายและประเมินสภาพสุขภาพทั่วไปเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด
  2. ผู้ป่วยควรอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บให้สั้นในคืนก่อนวันผ่าตัด
  3. งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันผ่าตัด
  4. พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนวันผ่าตัดอาจจะได้รับยาเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลและได้พักผ่อน
  5. ขณะทำการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะแพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกช่วงท่อนล่างของร่างกายโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง

ดูแลตนเองหลังผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไร

  1. หลังผ่าตัดใหม่ ๆ จะรู้สึกชาที่ขา ก้น และสะโพก เนื่องจากฤทธิ์ยาชายังคงอยู่
  2. ท่านอนหลังผ่าตัด ควรนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อลดการกดทับและบรรเทาอาการปวดแผล ในรายที่ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังควรนอนราบอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาชาเฉพาะที่
  3. สามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  4. การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น จะเริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด โดยใช้น้ำอุ่นใส่ในอ่างที่มีขนาดของปากอ่างพอดีกับก้นเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดกดทับกับก้นอ่างและแผลได้สัมผัสกับน้ำได้เต็มที่
  5. หากมีอาการปวดหลังผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาริดสีดวงทวาร

พญ.สรินดา เลิศบรรณพงษ์ ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาริดสีดวงทวาร

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้การดูแลรักษาริดสีดวงทวาร โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุกวัน


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคาร D ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์