เลสิกไร้ใบมีด (Femto LASIK) นวัตกรรมแห่งการมองเห็น (ตอนที่ 1)

4 นาทีในการอ่าน
เลสิกไร้ใบมีด (Femto LASIK) นวัตกรรมแห่งการมองเห็น (ตอนที่ 1)

แชร์

หากใครที่เชื่อว่า “การมองเห็น” คือองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิต ย่อมเข้าใจถึงความพยายามในการคิดค้นและผลิตนวัตกรรมอันทันสมัยขึ้นมาเพื่อถนอมสายตาและรองรับการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรม ‘การทำเลสิกไร้ใบมีด’ ซึ่งถือเป็นวิทยาการใหม่ที่ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาปัญหาสายตา แต่ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุ ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่พบมากในปัจจุบัน ด้วยการใช้แสงเลเซอร์เพิ่มความแม่นยำและความปลอดภัยในขั้นตอนของการแยกชั้นกระจกตา ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพของการมองเห็นและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยรวมต่อไป

 

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะสายตาผิดปกติเป็นผลของกำลังการรวมแสง (Refractive power) ของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา ทำให้การรวมแสงของตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตาและเกิดเป็นภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive errors) ที่สามารถแยกออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิดและสายตายาวตามอายุ ส่วนวิธีการแก้ไขนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพร่างกาย งบประมาณ รวมถึงความชื่นชอบส่วนบุคคล

 

หนึ่งในนั้นก็คือ การใส่แว่นสายตา (Spectacles) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมายาวนาน มีความปลอดภัยสูงแต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางประเภท เช่น แอร์โฮสเตส รวมถึงปัญหาด้านบุคลิกภาพ  ในส่วนของ การใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lenses) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การใส่แว่นสายตา แต่หากไม่ดูแลให้ดีอาจก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อที่กระจกตา นอกจากนี้การใส่คอนแทคเลนส์ยังอาจมาพร้อมกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อาการแพ้คอนแทคเลนส์หรือน้ำยาล้างเลนส์ รวมถึงข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางประเภท เช่น การว่ายน้ำหรือการอยู่ในที่ที่มีผุ่นควันมาก เป็นต้น ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาพึ่งวิธีการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Surgery) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและสร้างความมั่นใจให้แก่คนไข้ เริ่มตั้งแต่การกรีดกระจกตา (RK หรือ Radial Keratotomy) ไปจนถึงการใช้ Excimer Laser ขัดผิวกระจกตาโดยตรงที่เรียกว่า Photorefractive Keratectomy (PRK)   

 

“ผ่าตัดแผลเล็กด้วยเลเซอร์ทุกขั้นตอนแก้ไขสายตาสั้นและสายตาเอียง
อ่อนโยนต่อดวงตา แผลหายเร็ว”

อีกขั้นของเทคโนโลยีเลสิกไร้ใบมีด ReLEx (Refractive Lenticule Extraction)
ขอรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ชำนาญการ

 

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า Photorefractive Keratectomy หรือ PRK เป็นวิธีการผ่าตัดสายตาผิดปกติแบบถาวร โดยการลอกผิวกระจกตาที่อยู่ด้านนอกสุดที่เรียกว่า Epithelium ออก ซึ่งจะทำให้กระจกตามีลักษณะคล้ายผิวถลอกแล้วจึงใช้ Excimer Laser ปรับแต่งความโค้งของผิวกระจกตาโดยตรง วิธีนี้สามาถแก้ไขภาวะสายตาสั้น สายตาเอียงและสายตายาวโดยกำเนิดได้ ถึงแม้ว่า PRK จะมีมานานหลายสิบปีก่อนการทำเลสิก ก็ยังได้รับการยอมรับในแง่ของประสิทธิภาพของการรักษามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีข้อจำกัดในกลุ่มที่มีค่าสายตามากๆ เนื่องจากอาจเกิดฝ้าที่กระจกตาได้ ส่วนการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติอีกวีธีหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือ ‘การทำเลสิก’ (Lasik) เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบถาวรที่สามารถแก้ไขภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุได้  โดยการแยกชั้นกระจกตาส่วนบนเพื่อเปิดขึ้นเป็นฝากระจกตาแล้วจึงใช้ Excimer Laser แก้ไขค่าสายตาลงบนกระจกตาชั้นกลางเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาโดยรวม

 

ในบรรดาวิธีการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติทั้งหมดจะพบว่า ‘การทำเลสิก’ ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งยังปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ธารินี ก็ได้อธิบายว่า การทำเลสิกเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ประเทศไทยเรานำมาใช้แล้วราว 2 ทศวรรษ ซึ่งผลที่ได้นอกจากคนไข้จะสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แล้ว ยังพบว่า ‘เลสิก’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจให้แก่คนไข้ได้เป็นอย่างดี  “จริงๆ การทำเลสิกนี่เริ่มทำกันมานาน  20 กว่าปีแล้ว วิธีการทำก็จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือการแยกชั้นกระจกตาเพื่อเปิดออกให้มีลักษณะคล้ายฝา โดยเหลือขั้วเอาไว้ด้านหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Excimer Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน แม่นยำและอ่อนโยนต่อดวงตายิงลงไปเพื่อแก้ไขสายตา ในอดีตการแยกชั้นกระจกตาจะใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตา Microkeratome ซึ่งเป็นใบมีดชนิดพิเศษแยกชั้นกระจกตาส่วนบนเพื่อเปิดขึ้นเป็นฝากระจกตา ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา  ทำให้เราสามารถแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ โดยใช้เครื่อง Femtosecond Laser จึงซึ่งเป็นที่มาของเลสิกไร้ใบมีด (FemtoLasik) ที่มีความแม่นยำ ด้วยการใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดข้อแทรกซ้อนและลดการระคายเคืองหลังผ่าตัด ช่วยให้แผลหายเร็วกว่าการทำเลสิกแบบเดิม”พญ.ธารินี กล่าว

 

FemtoLasik เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธีการทำเลสิกโดยปราศจากใบมีด (ฺBladeless LASIK) โดยในขั้นตอนของการแยกชั้นกระจกตาจะใช้แสงเลเซอร์ (Femtosecond Laser)แทนการใช้ใบมีด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การแยกชั้นกระจกตาสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติในสถานพยาบาลชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือ ศูนยเลสิกกรุงเทพ ที่ได้เลือกใช้เครื่อง Femtosecond Laser รุ่น VisuMax ของ Carl Zeiss ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้การแยกชั้นกระจกตาสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภายในเวลาเพียง 17-20 วินาที โดยเลเซอร์จะ Focus ลงไปใต้ผิวกระจกตาด้วยความแม่นยำและจะสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา มีการสัมผัสที่อ่อนโยน ช่วยให้คนไข้รู้สึกสบายตาในระหว่างการผ่าตัด สามารถลดความคลาดเคลื่อนของการแยกชั้นกระจกตา ลดปัญหาผิวกระจกตาถลอก กระจกตาที่แยกได้มีความเรียบ ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยรวมเฉลี่ยข้างละ 15 นาที นอกจากนี้กระจกตายังสมานตัวเร็วช่วยย่นระยะเวลาของการพักฟื้นได้ในอีกทางหนึ่ง

 

ด้วยองค์ประกอบทั้งในด้านเครื่องมืออันทันสมัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวกว่า 10 ปี ภายใต้มาตรฐานการรักษา JCI จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่า “ศูนย์เลสิกกรุงเทพ” คือทางเลือกที่คุ่มค้าสำหรับการแก้ปัญหาสายตาอย่างครบครัน 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เลสิก
ชั้น 7 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์ - เสาร์ 08.00 - 17.00 น.
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์