Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

12 นาทีในการอ่าน
Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

แชร์

การออกกำลังกายแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบความตื่นเต้น โลดโผนแบบไม่มีขีดจำกัด ทำให้กีฬา Extreme เป็นที่นิยมในกลุ่มคนยุค New Normal ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบการเล่นเดิม ๆ ด้วยความแปลกใหม่ สนุกสนาน เร้าใจ บวกกับความเร็ว ความสูง ท้าทายสภาพแวดล้อมและสายตาผู้คน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรืออาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ 

รู้จักกีฬา Extreme

Extreme Sports หรือ X – Treme กีฬาผาดโผนของคนพันธุ์ X ไม่เพียงช่วยเผาผลาญไขมัน เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยังกระตุ้นให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่าน มีทั้งกีฬาทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ แบ่งออกเป็น

  1. Extreme Land Sports บนบก อาทิ ปีนหน้าผา, BMX, จักรยานเสือภูเขา, เซิร์ฟสเก็ตบอร์ด, Free Running หรือ Parkour, กีฬาวิบากต่าง ๆ เป็นต้น
  2. Extreme Water Sports ทางน้ำ อาทิ เจ็ตสกี, เวคบอร์ด, Kiteboard / Surfing, Flyboarding เป็นต้น
  3. Extreme Sky Sports กลางอากาศ อาทิ ดิ่งพสุธา, กระโดดเบสจัมป์ปิง, กระโดดร่มแบบ Wingsuit, Bungee Jumping, Ziplining, Canyon Swinging, Cliff jumping เป็นต้น

อันตรายจากกีฬา Extreme

การบาดเจ็บที่เกิดจากกีฬา Extreme แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง (Common Sports Injury) เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในกีฬา Extreme ได้แก่ การฟกช้ำ แผลถลอก การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  2. การบาดเจ็บที่รุนแรงมาก (Serious Sports Injury) มักเป็นการบาดเจ็บเฉียบพลันที่เป็นผลมาจากกระแทก การล้มหรือตกจากที่สูง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมาก อาจทำให้กระดูกหัก ข้อเคลื่อน เส้นเอ็นฉีกขาด เป็นต้น 

ส่วนการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงชีวิตพบได้ไม่บ่อยได้แก่การบาดเจ็บต่อสมองและกระดูกสันหลัง 


Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

Extreme กีฬาเสี่ยงสูงต้องระวัง

กลุ่มนักกีฬาที่มักบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา Extreme มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเริ่มเล่น และกลุ่มมืออาชีพหรือผู้ที่มีประสบการณ์สูงมักบาดเจ็บจากการพยายามทำสิ่งที่ยากขึ้น ซึ่งกีฬาที่มีความผาดโผน มีการกระโดดและพลิกตัวด้วยความเร็วสูง ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายและเสียชีวิตสูงกว่ากีฬาอื่น ๆ ได้แก่

1) ปีนเขาหรือหน้าผา (Climbing) ใช้กำลังแขนขาค่อนข้างมาก ความยากจะเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จึงเกิดจากการใช้แขน ไหล่ ข้อมือ และนิ้วมือ เพื่อยึดจับ ยกดึงตัว และโหนรับน้ำหนักตัว อาทิ

  • กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
  • เส้นเอ็นนิ้วมืออักเสบ
  • เส้นเอ็นไหล่ ข้อศอก และข้อมืออักเสบ

ทั้งนี้อุบัติการณ์ของการบาดเจ็บที่พบมากในกีฬาปีนเขาสัมพันธ์กับระดับความสูง ความถี่ และปัจจัยแวดล้อมที่เพิ่มความยากลำบากในการปีนเขา อาทิ หินถล่ม รอยแยก เป็นต้น ซึ่งสามารถส่งผลโดยตรงต่อการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง ขณะที่การล้มเป็นกลไกที่พบบ่อยที่สุดของการบาดเจ็บเฉียบพลัน 

2) กระโดดหน้าผา (Cliff Jumping) / กระโดดร่มดิ่งพสุธา (Skydiving) / กระโดดเบสจัมป์ปิง (B.A.S.E. Jumping) / กระโดดร่มแบบ Wingsuit / บันจีจัมป์ (Bungee Jumping) เป็นกีฬาท้าทายความกล้าที่มีอันตราย ด้วยความสูงกว่าหมื่นฟุต กระโดดจากอาคาร เสาอากาศ สะพานหรือหน้าผาด้วยตัวเปล่าแล้วกระตุกร่มชูชีพก่อนลงพื้น หรือสวมชุด Wing Suit ที่ทำให้อยู่บนฟ้าได้นานยิ่งขึ้น หรือการผูกเชือกมัดไว้กับข้อเท้าแล้วโดดห้อยหัวลง แกว่งคล้ายลูกตุ้มแบบ Canyon Swinging หากพลาดเพียงนิดเดียวมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากการกระแทกขณะลงสู่พื้นด้วยความเร็วสูง 

ที่อันตรายที่สุดคือ Cliff Jumping หรือ Cliff Diving การกระโดดหน้าผาดิ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่างโดยไร้สิ่งป้องกัน ซึ่งมีความอันตรายอยู่ในระดับท็อปฮิตของกีฬาเอ็กซ์ตรีม ยากที่จะไม่ได้รับบาดเจ็บ เพราะความเร็วสูง และหากน้ำลึกไม่มากพอหรือมีวัตถุบางอย่างใต้น้ำที่มองไม่เห็นอาจมีผลร้ายแรงและเสี่ยงต่อการจมน้ำ 

อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่

  • แผลถลอก
  • แผลฉีกขาด
  • ข้อเคล็ด 
  • กล้ามเนื้ออักเสบ
  • การบาดเจ็บที่หลังและกระดูกสันหลัง
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ

3) จักรยานเสือภูเขา (Mountain Biking) / เสือหมอบ (Road Bike) / บีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์ (BMX Freestyle) / มอเตอร์ไซค์วิบาก (Cycling / Motorsport) ส่วนใหญ่เกิดการล้ม การรับแรงกระแทก การใช้กล้ามเนื้อ และท่าทางในการขับขี่เพื่อยกล้อ ทรงตัว ไถลบนราวหรือบันได หรือขี่ลงเนินที่ลาดชัน รวมถึงกระโดดด้วยความเร็วและแรง อาทิ

  • แผลถลอก
  • แผลฉีกขาด
  • ไหล่หลุด 
  • ไหปลาร้าหัก
  • เอ็นข้อมืออักเสบเรื้อรัง
  • ปวดหลัง 
  • ปวดเข่า 
  • กล้ามเนื้อขาเรื้อรัง

4) เซิร์ฟสเก็ตบอร์ด (Surf Skateboard) เน้นการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ทำให้มีโอกาสได้รับอุบัติเหตุ การบาดเจ็บเกือบทั้งหมดเกิดจากการล้มหรือกระแทก หากเล่นบนถนนที่มีการจราจร ทางลาดชัน หรือบนตึกอาคารสูง อาจเกิดอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่

  • แผลถลอก
  • แผลฉีกขาด
  • ข้อเคล็ด 
  • กล้ามเนื้ออักเสบ
  • ข้อเคลื่อนหลุด
  • เอ็นฉีกขาด
  • กระดูกข้อมือหัก
  • กระดูกใบหน้าหัก
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.bangkokhospital.com/content/surf-skate-injuries

Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

5) เจ็ตสกี (Jet Ski) / ไคทซ์เซิร์ฟ (Kitesurfing) / กระดานโต้คลื่น เวคบอร์ด (Wakeboard) กีฬาทางน้ำสุดโลดโผน แม้การล้มในน้ำจะดูเหมือนไม่อันตราย แต่ความเป็นจริงอาการบาดเจ็บไม่ต่างกับการล้มบนพื้น เพราะการขับเจ็ตสกีมีความเร็วถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุจากการพลิกตัวหรือตีลังกาลอยกลางอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้บาดเจ็บจากการกระแทกกับผิวน้ำหรือแนวหินใต้น้ำอย่างรุนแรงได้ และอุบัติเหตุจากการชนเรือสปีตโบทอาจส่งผลรุนแรงต่อชีวิตจากการบาดเจ็บหรือจมน้ำได้ 

อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ ได้แก่

  • การฟกช้ำ
  • การบาดเจ็บที่หลัง
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอ

6) สกี (Skiing) / สโนว์บอร์ด (Snowboarding) กีฬาเอ็กซ์ตรีมที่มีการฝึกอบรมใช้อุปกรณ์ป้องกันและป้ายเครื่องหมายเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ แต่การบิดและการเคลื่อนที่บนพื้นผิวที่ลื่นไหลอย่างรวดเร็วนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดมาจากการกระแทกและการบิดของนิ้ว ข้อมือ หัวไหล่ หัวเข่า และข้อเท้า เพื่อเลี้ยว หยุด หรือล้ม อาทิ

  • เจ็บเข่า 
  • เข่าเคล็ด 
  • เอ็นเข่าฉีกขาด
  • กระดูกไหปลาร้าหัก
  • กระดูกแขนหัก 
  • กระดูกหน้าแข้งหัก
  • เอ็นยึดโคนนิ้วหัวแม่มือฉีก (Skier’s Thumb)

ประเมินการบาดเจ็บจากกีฬา Extreme

เมื่อประสบอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมให้หยุดและสังเกตอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึง

  • หากผู้บาดเจ็บลุกเดินเองไม่ไหว ให้นั่งพักหรือนอนพัก 
  • หากต้องช่วยประคองหรืออุ้ม ให้ถามก่อนทุกครั้งว่า หากขยับตัวแล้วมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นหรือไม่ 
  • หากปวดมากจนขยับไม่ได้ อาจมีกระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือการบาดเจ็บภายในที่รุนแรง ควรเรียกรถพยาบาลหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยทันที

Extreme Sports ปฐมพยาบาลหากไม่รุนแรง

หากบาดเจ็บไม่รุนแรงอย่างแผลถลอก แผลเลือดออก ฟกช้ำ บวม สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที ได้แก่

  • บาดแผลถลอกที่มีสิ่งสกปรกในแผล ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เช่น ใช้น้ำดื่มในขวดเทหรือฉีดใส่แผล ฯลฯ
  • บาดแผลที่มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดโดยใช้นิ้วมือกดลงบนจุดที่มีเลือดออก
  • แขนขาที่ฟกช้ำ บวม พักส่วนนั้นให้อยู่นิ่ง ๆ ประคองให้สูงขึ้น ประคบด้วยความเย็น

Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

Extreme Sports เจ็บแบบไหนต้องพบแพทย์

เมื่อมีอาการที่อาจเป็นอันตรายต้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินและรีบพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่ 

  • วูบหมดสติ สลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้
  • ปวดศีรษะมาก มึนงง คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดมากตามแนวต้นคอ กระดูกสันหลัง และเอว
  • แขนหรือขาที่บาดเจ็บมีอาการปวดมาก บวมมาก หรืองอบิดผิดรูป
  • มีบาดแผลขนาดใหญ่หรือมีเลือดออกมาก
  • เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
  • ปวดท้องมาก แน่นท้อง
  • หน้ามืด เป็นลม นอนพักแล้วอาการไม่ทุเลา

เทคนิครักษากระดูกหักจากกีฬา Extreme

อย่างที่ทราบกันว่ากีฬา Extreme อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่กระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเกือบทุกชนิดของกีฬาเหล่านี้มักนำไปสู่อุบัติเหตุต่อกระดูกและข้อที่มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการเกิดและแรงกระทำ ตั้งแต่เส้นเอ็นฉีกขาดจนไปถึงกระดูกร้าว กระดูกเคลื่อน และกระดูกหัก โดยบริเวณที่พบกระดูกหักบ่อย ได้แก่ กระดูกไหปลาร้า เท้าและข้อเท้า ไหล่ แขน และกระดูกเชิงกราน 

  • กระดูกไหปลาร้าหัก เป็นตำแหน่งกระดูกหักที่พบได้บ่อย เนื่องจากง่ายต่อการบาดเจ็บจากการรับแรงกระแทกที่ผ่านมาจากแขนสู่ลำตัว โดยการหักอาจเกิดจากแรงกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้าหรือแรงกระแทกทางอ้อมจากไหล่หรือแขน เช่น หกล้มในท่าแขนเหยียดออกกระแทกพื้น หรือหกล้มไหล่กระแทกพื้น การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก แบ่งออกเป็น 
    1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนที่ของกระดูกหักไม่มาก รักษาได้โดยการใส่ที่พยุงแขนไว้เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ ร่วมกับการงดขยับหัวไหล่ในช่วง 2 สัปดาห์แรก โดยทั่วไปกระดูกจะติดภายในระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการรักษากระดูกไหปลาร้าหักโดยไม่ผ่าตัดอาจมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกหักเคลื่อนจากกันมาก 
    2. การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักและมีการเคลื่อนที่ออกจากกันมาก เช่น หดสั้นหรือแยกออกจากกันเกิน 2 เซนติเมตร การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กดามกระดูกจะเพิ่มโอกาสกระดูกติดและลดการติดผิดรูปได้ ในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยเทคนิค MIPO (Minimally Invasive Percutaneous Plate Osteosynthesis) โดยเปิดแผลสั้น ๆ ประมาณ 2 – 3 แผล หลังจากนั้นสอดเหล็กเข้าไปใต้ผิวหนังและยึดตรึงกระดูกด้วยสกรู โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดยาวตลอดความยาวของกระดูกไหปลาร้า การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและเส้นประสาท รวมไปถึงลดการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
  • กระดูกเท้าแตกหัก นอกจากกระดูกไหปลาร้าแล้ว กีฬา Extreme สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณรอบข้อเท้า ซึ่งอาจเป็นการบาดเจ็บโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น การถูกกระทบกระแทกของข้อเท้าต่อพื้นผิว หรือวัตถุแข็ง การกระแทกตามแนวดิ่ง หรือการบิดงอของข้ออย่างรุนแรง ทําให้เกิดการหักของกระดูกในบริเวณข้อเท้าโดยลักษณะและความรุนแรงของการแตกหักของกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของการบาดเจ็บและความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งกระดูกเท้าแตกหัก การรักษาหลักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
    1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด กรณีกระดูกร้าวหรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ หรือการแตกหักนั้น ๆ ไม่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วย การรักษาทำได้โดยใส่เฝือกหรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนขยับข้อเข่า และป้องกันการถ่ายลงน้ำหนัก จนกระทั่งกระดูกมีการเชื่อมติดที่แข็งแรงเพียงพอ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ เช่นเดียวกับกระดูกไหปลาร้าหัก
    2. การรักษาแบบผ่าตัด กรณีที่มีการแตกหักและเคลื่อนของผิวข้อ หรือไม่สามารถใส่เฝือกได้ในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านในและด้านนอกของข้อเท้า ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก หรือการรัดลวดโลหะ เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม 

การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจนและการทำภาพ 3 มิติในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด

ข้อมูลเพิ่มเติม :

https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/reboot-your-step-safe-your-feet

https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/fractured-clavicle-from-accident


เวชศาสตร์การกีฬากับกีฬา Extreme

การบาดเจ็บจากกีฬา Extreme อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ ได้ อาทิ ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ส่งผลให้มีอาการปวด อักเสบ หรือฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อไปจนถึงข้อต่อเสื่อม เกิดความไม่มั่นคงต่อข้อต่อต่าง ๆ สร้างปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถกลับมาเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมได้เหมือนเก่า หรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน 

การรักษาผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) แผลเล็ก เป็นแนวทางการรักษาที่นิยมในปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในข้อต่อต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กขั้นสูงและเครื่องมือเวชศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัย ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง คงความฟิตของร่างกาย ให้นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมสามารถกลับมาเล่นกีฬาผาดโผนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแล รักษา ฟื้นฟูศักยภาพ และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ด้วยโปรแกรม SPORTS PERFORMANCE ที่ออกแบบโปรแกรมตรวจวิเคราะห์สมรรถภาพร่างกายจำเพาะกีฬาแต่ละชนิด ช่วยค้นหาความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำและออกกำลังกายบริหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพและป้องกันการบาดเจ็บเฉพาะบุคคล เตรียมความพร้อมก่อนกลับไปเล่นกีฬาผาดโผนอีกครั้ง โดยทีมแพทย์และสหวิชาชีพเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาของสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย หรือ BASEM ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA Medical Centre of Excellence) ของประเทศไทย


Extreme Sports Injury ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องดูแล

อุบัติเหตุทางสมองกับกีฬา Extreme

จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุทางสมอง หรือผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะนั้น 10% – 20% มีสาเหตุมาจากกีฬาและกิจกรรมสันทนาการ โดยเฉพาะกีฬา Extreme Sports โดยความรุนแรงของการบาดเจ็บแปรผันตามความเร็วของการเคลื่อนไหวของกิจกรรม มีตั้งแต่ไม่มีบาดแผลจนถึงขั้นรุนแรงหมดสติหรือแม้แต่เสียชีวิตได้ การบาดเจ็บชนิดที่ไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ แต่หากเป็นชนิดปานกลางหรือรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการในทันทีเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลัง ผลของการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บและกระบวนการดูแลรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที ในรายที่มีกลไกของการบาดเจ็บที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กะโหลกแตก กระดูกคอหรือกระดูกสันหลังหักหรือเคลื่อน  หรือเลือดออกในสมอง และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในรายที่รุนแรงถึงขั้นมีความจำเป็นต้องผ่าตัด เช่น เลือดคั่งในสมองหรือมีการบาดเจ็บต่อไขสันหลัง สมควรที่จะผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในสมองหรือไขสันหลังส่วนที่ยังดีอยู่ ตามด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและระบบประสาท เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด 


เทคนิคการรักษาอุบัติเหตุทางสมอง

เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยเพิ่มความถูกต้องในการรักษาอุบัติเหตุทางสมอง เช่น การตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) เพื่อสแกนสมอง ทำให้เห็นความเสียหายหรือรอยโรคได้ชัดเจน นำไปสู่การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ในบางกรณีหากมีการบาดเจ็บรุนแรงจนวิกฤติ ศัลยแพทย์อาจเลือกวิธีการผ่าตัดสมองด้วยเทคนิคนำวิถี (Stereotactic Neurosurgery) ที่สามารถกำหนดจุดที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องก่อนจะลงมีด โดยนำผู้ป่วยไปเข้าเครื่องสแกนเพื่อสร้างภาพของสมอง แล้วจึงนำภาพนั้นไปวางแผนและกำหนดพิกัดผ่าตัดสมอง ทำให้สามารถเปิดแผลศีรษะเฉพาะจุดที่ต้องการเท่านั้น ผู้ป่วยจึงมีบาดแผลเล็กลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดกะโหลก บางครั้งอาจผ่าตัดผ่านรูขนาดเล็กเพียง 1 – 2 เซนติเมตร ส่งผลให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต


ป้องกันอุบัติเหตุทางสมอง

การป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุทางสมองที่รุนแรง แนะนำให้สวมหมวกนิรภัยหรืออุปกรณ์สวมศีรษะตลอดเวลาเมื่อเล่นกีฬาดังต่อไปนี้

  • เบสบอลและซอฟต์บอล (เมื่อตี)
  • ปั่นจักรยาน
  • อเมริกันฟุตบอล
  • ฮอกกี้
  • ขี่ม้า
  • สเก็ตบอร์ด / สกูตเตอร์
  • สกี
  • สโนว์บอร์ด
  • มวยปล้ำ
  • ศิลปะการต่อสู้
  • กระโดดค้ำถ่อ
  • มอเตอร์สปอร์ต

ระวังทุกเมื่อกับกีฬา Extreme

  • กีฬาที่เล่นต้องเหมาะสมกับสภาวะสุขภาพและสภาพของผู้เล่น 
  • เล่นกีฬาในสถานที่ที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬาชนิดนั้น
  • ดูแลเด็กเล็กตลอดเวลา ห้ามใช้อุปกรณ์กีฬาหรือเล่นกีฬาที่ไม่เหมาะสมกับวัย
  • ทำตามกฎทุกข้อที่สวนน้ำและสระว่ายน้ำ
  • สวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับการเล่นกีฬา
  • ห้ามใส่เสื้อผ้าที่รบกวนการมองเห็น
  • ห้ามเล่นกีฬาเมื่อป่วยหรือเหนื่อยมาก
  • ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรทั้งหมด ระวังผู้ขับขี่เมื่อขี่จักรยาน เล่นสเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด
  • หลีกเลี่ยงพื้นผิวที่ไม่เรียบเมื่อขี่จักรยาน สเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด
  • ตรวจสอบความปลอดภัยสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และอุปกรณ์เป็นประจำ
  • ทิ้งและเปลี่ยนอุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เสียหาย

ป้องกันการบาดเจ็บจากกีฬา Extreme

การป้องกันการบาดเจ็บเป็นหัวใจสำคัญในการเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ได้แก่

  • ฝึกเล่นกีฬาโดยผู้ฝึกสอนที่มีความชำนาญ
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บที่เหมาะสมกับประเภทกีฬา เช่น หมวกนิรภัย แว่นนิรภัย ถุงมือ อุปกรณ์กันกระแทก เสื้อชูชีพ เสื้อผ้าและรองเท้า
  • อบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนเริ่มเล่นกีฬา
  • ไม่ฝืนเล่นผาดโผน เล่นยากเกินระดับที่เคยฝึกฝน
  • มีบัดดี้หรือคู่หูในการเล่นกีฬา เพื่อดูแลและช่วยเหลือกันหากบาดเจ็บ
  • หากเสียหลักล้มให้หันด้านข้างหรือสะโพกลงพื้นเพื่อรับแรงกระแทก ประคองศีรษะและลำคอไว้
  • หากเสียหลักล้มขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วให้ปล่อยตัวตามธรรมชาติ อาจกลิ้งไปกับพื้น ไม่เกร็งตัว 
  • หยุดเล่นเมื่อมีอาการเจ็บหรือเหนื่อย 
  • พักดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและความร้อนสูงเกินไป
  • ตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ และกระแสน้ำว่ามีความปลอดภัย เหมาะสมกับการเล่นกีฬา
  • ตรวจสอบคำเตือนอันตรายในพื้นที่ เช่น คลื่นลมแรง ลมพายุ ฯลฯ
  • มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

แจ้งเหตุเร็วรักษาได้ทัน

การป้องกันอุบัติเหตุสำคัญที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ผู้บาดเจ็บควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีบุคลากรการแพทย์พร้อมรถพยาบาลคอยให้การดูแล เคลื่อนย้าย และส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร 1669 หรือศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยบีดีเอ็มเอส โทร 1724 (BDMS Medevac Center)  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ส่งทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงที่ติดตั้งภายในรถพยาบาลในการดูแลเคลื่อนย้ายในกรณีที่จำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง โดยควรโทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรก เพราะการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยขาดความรู้อาจนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้

หากเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) โรงพยาบาลกรุงเทพ และศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บีดีเอ็มเอส (BDMS Medevac Center) เป็นศูนย์กลางการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับและส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ 1724 หรือ 1719 ซึ่งมีความพร้อมด้านเวชศาสตร์ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหวิชาชีพพร้อมให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


กีฬา Extreme Sports แม้จะเป็นกีฬาที่เสี่ยงอันตราย แต่หากผู้เล่นมีทักษะที่ดีและมีความพร้อมในการเล่น ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย ช่วยให้หัวใจสูบฉีดและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและสมองมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะมือใหม่ควรศึกษาวิธีการเล่น เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เข้าใจรูปแบบการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยเพื่อป้องกันอันตราย จะได้สนุกกับการเล่นและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บให้น้อยที่สุด 


Reference
  1. Laver, L., Pengas, I.P. & Mei-Dan, O. Injuries in extreme sports. J Orthop Surg Res 12, 59 (2017).
  2. McIntosh A, Fortington L, Patton D, et al EXTREME SPORTS, EXTREME RISKS. FATALITIES IN EXTREME SPORTS IN AUSTRALIA British Journal of Sports Medicine 2017;51:360. 
  3. https://www.rgare.com/knowledge-center/media/articles/extreme-sports-extreme-underwriting
  4. https://www.iii.org/fact-statistic/facts-statistics-sports-injuries

แชร์