Surf Skate เจ็บแค่ไหนก็ดูแลได้

5 นาทีในการอ่าน
Surf Skate เจ็บแค่ไหนก็ดูแลได้

แชร์

เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตในปัจจุบันที่โดนใจคนทุกเพศทุกวัย ทั้งสนุกและเท่ไป
พร้อม ๆ กัน แต่หากสนุกจนเกินไปหรือไม่ได้เตรียมพร้อมร่างกายอย่างเพียงพอ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดอุบัติเหตุ และต้องมาโรงพยาบาลได้ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมเมื่อจะเล่นเซิร์ฟสเก็ตเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

 

รู้จักกับ Surf Skate

เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) เป็นกีฬาบนแผ่นกระดานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสเก็ตบอร์ดกับกีฬาเซิร์ฟ โดยการเคลื่อนที่จะใช้การบิดตัว ใช้แขนและสะโพกเหวี่ยงในการเดินหน้าและเปลี่ยนทิศทาง โดยล้อด้านหน้าสามารถหมุนเลี้ยวได้มากกว่า ต่างกับ Skateboard ที่จะใช้ขาไถเพื่อเคลื่อนที่ และถูกออกแบบมาเพื่อเล่นท่าทางต่าง ๆ เช่น การกระโดด เป็นต้น


การบาดเจ็บจาก Surf Skate

กีฬาเซิร์ฟสเก็ตสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ 2 แบบหลัก ๆ คือ เกิดจากการเล่นและเกิดจากอุบัติเหตุ โดยหากเกิดอุบัติเหตุ อาจรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด

  1. การบาดเจ็บจากการเล่น Surf Skate เนื่องจากต้องใช้การทรงตัว การบิดตัว และเหวี่ยงสะโพกในการเล่นอยู่ตลอดเวลา ในผู้เล่นหน้าใหม่จึงทำให้เกิดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ ได้ ทั้งอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้น ปวดเมื่อยต้นขา รวมทั้งข้อเข่าและข้อเท้า
  2. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ Surf Skate ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น มักเกิดจากการล้ม การกระแทก เช่นเดียวกับกีฬาสเก็ตบอร์ด สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก แผลแตก หรือรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก หรือสมองกระทบกระเทือนได้เช่นกัน โดยสามารถพบการบาดเจ็บได้ทั่วทั้งร่างกาย

อวัยวะเสี่ยงบาดเจ็บจาก Surf Skate

อวัยวะที่พบการบาดเจ็บได้บ่อย ๆ คือ

  • ข้อมือ
  • แขน
  • ข้อศอก
  • ข้อไหล่
  • ข้อสะโพก
  • ข้อเข่า
  • ขา
  • ข้อเท้า
  • ศีรษะ

สาเหตุการบาดเจ็บจาก Surf Skate

  1. ขาดเทคนิคและทักษะในการเล่น
    ในผู้เล่นมือใหม่อาจจะยังขาดความคุ้นเคยและความเข้าใจในการเล่น ทำให้การทรงตัว การบังคับบอร์ดไม่ราบรื่นตามต้องการ จนอาจเกิดอุบัติเหตุ เสียการทรงตัว หกล้ม กระแทกได้ รวมทั้งบางคนที่ร่างกายขาดความพร้อม ขาดความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความคล่องตัว อาจจะเพิ่มความรุนแรงของการบาดเจ็บได้
  2. สถานที่หรือสนามไม่เหมาะสม
    หากเลือกสถานที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นขรุขระ มีทราย มีน้ำขัง มีทางลาดชันมาก หรือผู้คนพลุกพล่าน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากเลือกเล่นบริเวณใกล้ถนน หรือมียานยนต์สัญจรไปมา อาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตแก่ผู้เล่นและผู้สัญจรได้เช่นกัน
  3. อุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม
    ชนิดของบอร์ด ทรัค และล้อมีหลากหลายรูปแบบ หากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การเล่นติดขัดได้มากขึ้นและเสี่ยงต่อการล้ม การบาดเจ็บ รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ เช่น หมวกกันกระแทก สนับศอก สนับข้อมือ สนับเข่า ล้วนช่วยลดความรุนแรงในการบาดเจ็บได้ แต่มักถูกละเลยจากผู้เล่นส่วนใหญ่
  4. มั่นใจในตัวเองมากเกินไป
    หากผู้เล่นมีความชำนาญในระดับหนึ่งมักจะมีความต้องการในการเล่นท่าทางผาดโผนต่าง ๆ มากขึ้น หรือลองเล่นในพื้นที่ลาดเอียงหรือท้าทายมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

อาการบาดเจ็บรุนแรงจาก Surf Skate

หลังจากกีฬา Surf Skate ฮิตติดลมบนในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากกีฬาชนิดนี้จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น โดยอาการบาดเจ็บรุนแรงที่พบคือ อุบัติเหตุจากการเสียการทรงตัว ล้ม หรือกระแทก และหากเล่นบนถนนที่มีการจราจรอาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ตัวอย่างอาการบาดเจ็บรุนแรงจากกีฬา Surf Skate ได้แก่

  • บาดเจ็บศีรษะ เช่น ศีรษะแตก กะโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือน หรือมีเลือดออกในสมอง
  • กระดูกหัก เช่น ข้อมือหัก ข้อศอกหัก กระดูกหัวไหล่หัก ไหปลาร้าหัก ข้อสะโพกหัก ลูกสะบ้าแตก ข้อเท้าหัก
  • ข้อเคลื่อนหลุด เช่น ข้อไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดบริเวณเข่า
  • เอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด เอ็นข้อศอกฉีกขาด เอ็นเข่า หรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด

Surf Skate เจ็บแค่ไหนก็ดูแลได้

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บ

หากเกิดการบาดเจ็บจากกีฬา Surf Skate สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที โดยใช้หลัก P.R.I.C.E.

  • P – Protect คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การใช้ที่คล้องแขน การดามบริเวณที่บาดเจ็บ หรือการใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินเพื่อลดการลงน้ำหนัก
  • R – Rest คือ การพักการเล่นและการใช้งาน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ โดยแนะนำให้พักดูอาการ 2 – 3 วัน
  • I – Ice คือ การประคบเย็น สามารถประคบเย็นบริเวณที่ปวดบวมหรือฟกช้ำครั้งละ 15 – 20 นาที ทำได้บ่อยตามต้องการ
  • C – Compression คือ การใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดการบวมและลดการเคลื่อนไหว
  • E – Elevation คือ การยกสูง ทำโดยยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม

บาดเจ็บจาก Surf Skate แบบไหนต้องพบแพทย์

  1. ศีรษะกระแทก มีอาการมึนงง จำเหตุการณ์ไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือสลบไปชั่วขณะ อาจเป็นสัญญาณของภาวะกระทบกระเทือนทางสมอง หรืออาจมีเลือดออกในสมองได้
  2. ปวด บวม ผิดรูปของกระดูกและข้อ อาจมีภาวะข้อเคลื่อนหลุด หรือกระดูกหักได้
  3. อาการปวดต่อเนื่องระหว่างการเล่น หลังการเล่น หรือพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจะไม่ใช่อาการเมื่อยล้าหรือฟกช้ำ แต่อาจจะเป็นอาการที่รุนแรงกว่าที่คาดคิดได้
  4. ข้อไม่มั่นคง หลวม หรือการเปลี่ยนทิศทางเดินแล้วเข่าทรุด อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้ จากการล้ม หรืออุบัติเหตุเข่าบิด

เตรียมพร้อมเล่น Surf Skate

  • เลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ อยู่ในสภาพที่ดี ใช้งานได้ตามปกติ
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับข้อมือ สนับศอก สนับเข่า ช่วยลดความรุนแรงการบาดเจ็บได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่แนะนำให้เล่น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรมีผู้ดูแลควบคุมที่มีประสบการณ์
  • ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากอาจมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนร่วมด้วย หากเกิดอุบัติเหตุล้ม จะมีความรุนแรง เกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะข้อมือ ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
  • เลือกสถานที่ให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเล่น เช่น Skate Park เลี่ยงการเล่นบริเวณใกล้ถนนและบริเวณที่มีกรวด ทราย น้ำขัง
  • เตรียมร่างกายก่อนเล่นด้วยการวอร์มอัพ ยืดเหยียด วิ่งจ็อกกิง หรือกระโดดตบ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความพร้อมของข้อต่อและกล้ามเนื้อ
  • บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้งานหลัก ๆ ในการเล่น Surf Skate เช่น กล้ามเนื้อแกนกลาง กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา และน่อง เช่น การบริหารท่า Plank หรือ  Squat
  • ศึกษาและฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นระดับพื้นฐานก่อน เรียนรู้การทรงตัว การเคลื่อนที่ และฝึกการล้มอย่างถูกวิธี ประเมินตนเอง ไม่เสี่ยงจนเกินพอดี
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากหากเล่น Surf Skate เป็นเวลานานกลางแดดร้อน อาจเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดอันตรายจากความร้อนได้

สำหรับกีฬา Surf Skate อาจจะมองว่ามีอันตรายพอสมควร แต่หากผู้เล่นเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ไม่เสี่ยงจนเกินสมรรถภาพร่างกาย นับเป็นอีกชนิดกีฬาที่สนุกและเสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดีในทุกเพศทุกวัย

 

หากใครต้องการตรวจเช็กสภาพร่างกาย ทดสอบการทรงตัว ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งออกกำลังกายบริหารเพื่อเพิ่มสมรรถนะและป้องกันอาการบาดเจ็บ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ (BASEM) มีโปรแกรม Sport Performance ที่ออกแบบจำเพาะต่อกีฬาแต่ละชนิด หรือหากมีปัญหาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา Surf Skate สามารถเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู หรือผ่าตัด โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อาทิเช่น ออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่พร้อมให้คำแนะนำตามมาตรฐานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า เพื่อให้ผู้เล่นทุกคนกลับมาโชว์ลีลาบนบอร์ดได้อย่างมั่นใจ


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์