ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี เพิ่มภูมิคุ้มกันปกป้องชีวิต
5 นาทีในการอ่าน

แชร์
จากงานวิจัยทวีปเอเชียแปซิฟิกและแถบละตินอเมริกาในอาสาสมัครอายุ 9 – 16 ปี พบว่า วัคซีน CYD-TDV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไข้เลือดออกเดงกี ดังนี้
- ป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีทุกสายพันธุ์ได้ 65.6%
- ลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80.8%
- ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ถึง 92.9%
“ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกีครบ 3 เข็ม ลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกในอนาคต ห่างไกลความรุนแรงของโรคที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของตัวคุณและคนที่คุณรัก”
รู้จักไข้เลือดออก
- โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี-1, เดงกี-2, เดงกี-3 และเดงกี-4 ไม่ว่าจะติดเชื้อสายพันธุ์ใดร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้น
- พาหะนำโรคสำคัญ คือ ยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เมื่อกัดแล้วจะถ่ายทอดเชื้อทันที สิ่งที่ต้องจำไว้คือ ยุงลายกินเลือดตอนกลางวัน ยิ่งถ้ามีน้ำขังแบบนิ่ง ยุงลายพร้อมวางไข่ทุกเมื่อ แม้ยุงลายจะมีอายุเพียง 7 วัน แต่ยุงลายพบมากในชุมชนและบ้านคนมากที่สุด โอกาสที่จะได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจึงเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
- อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีความรุนแรงต่างกัน บางรายผู้ป่วยเป็นไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่บางรายก็มีการรั่วของพลาสม่าหรือน้ำเหลืองออกทางเส้นเลือด หากมากเกินไปจะนำไปสู่ภาวะช็อก เนื่องจากเลือดเข้มข้นขึ้น
- ระยะรุนแรงที่สุดคือ ระยะที่ 2 ของโรคไข้เลือดออกเดงกีหรือภาวะวิกฤติ กินเวลา 12 – 72 ชั่วโมง จะมีอาการในช่วงที่ไข้ลดลงหลังจากไข้สูงมานาน 3 – 7 วัน โดยจะบ่งบอกความรุนแรงต่อจากนี้ นั่นคือไข้ลดแล้วเกิดภาวะช็อกหรือเลือดออกรุนแรงหรือไข้ลดแล้วอาการดีขึ้นเข้าสู่การพักฟื้นในวันต่อไป
“ไข้” กับ “เลือดออก” บอกอาการ
อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องติดตามเป็นระยะ โดยจะแสดงออกชัดเจนประมาณวันที่ 3 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้หลังจากนั้นไข้ที่เกิดขึ้นมีทั้งไข้สูง คือ ไข้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสและไข้ลอย คือ ไข้สูง 39 – 40.5 องศาเซลเซียสที่เป็นนานตลอดระยะเวลาของโรค มักกินเวลานาน 3 – 7 วัน วิธีที่ดีที่สุดในการจะรู้ว่าเป็นไข้เลือดออกคือปรอทวัดไข้และการสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
ภาวะเลือดออกของผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดจากเกล็ดเลือดต่ำ เส้นเลือดเปราะบาง ระบบแข็งตัวของเลือดทำงานไม่ปกติ แต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกคน แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะเด่นชัดช่วงวันที่ 2 และ 3 ของการเป็นไข้ ตำแหน่งที่พบ ได้แก่ ผิวหนัง ช่องปาก เยื่อบุจมูก และกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อยและรุนแรงมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบที่ชื่อว่า “ทูร์นิเกต์” เพื่อดูความเปราะบางของเส้นเลือดฝอยตรงข้อพับ วิธีการจะใช้การรัดแขนด้วยเครื่องวัดความดันเลือดนาน 3 – 5 นาที หากอ่านผลแล้วมีจุดเลือดออกมากกว่า 10 จุดต่อตารางนิ้วถือว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัส แต่ก็สามารถเป็นไวรัสอื่น ๆ ได้ ในผู้ที่เป็นไข้เลือดออกจะพบผลบวกร้อยละ 80 เมื่อตรวจในวันที่เป็นไข้ ตั้งแต่วันที่ 2 – 3 เป็นต้นไป
รักษาช่วยชีวิตทันท่วงที
การรับน้ำอย่างเพียงพอ ทั้งการดื่มน้ำและให้สารน้ำทางหลอดเลือด คือหัวใจสำคัญของการรักษาโรคไข้เลือดออก และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การพบแพทย์ทุก 1 – 2 วันเพื่อเจาะเลือดดูอาการและตรวจนับเม็ดเลือด แต่ในเรื่องของการพักรักษาตัวนั้นสามารถดูแลที่บ้านในเบื้องต้น ด้วยการดื่มน้ำธรรมดา น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ ให้จิบบ่อย ๆ แต่หากมีอาการอาเจียนรุนแรง มีเลือดปนหรือเป็นน้ำสีดำ และขาดน้ำมากต้องรีบมาโรงพยาบาลในทันทีเพื่อรักษาอย่างใกล้ชิด ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มแอสไพรินหรือยาไอบูโปรเฟน เพราะอาจส่งผลต่อตับร้ายแรงจนตับวายได้
อย่าให้เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2
เนื่องจากเมื่อเป็นไข้เลือดออกหรือติดเชื้อไวรัสเดงกีในครั้งแรก ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดที่เป็นและยังช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ยังไม่ได้เป็นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ระดับภูมิคุ้มกันนั้นต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ หากติดเชื้อซ้ำครั้งที่สองกับไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ต่างจากตัวแรกอาจกลายเป็นกระตุ้นให้เชื้อรุนแรงกว่าเดิม ทำให้อาการที่ปรากฏรุนแรงขึ้น สิ่งที่ควรรู้ไว้คือ การติดเชื้อไวรัสเดงกีตามทฤษฎีมักจะไม่เกิน 4 ครั้ง เพราะมีเชื้อไวรัสเดงกี อยู่ 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกจึงเป็นเพียงครั้งเดียวหรือมากที่สุดไม่เกิน 2 ครั้ง และโอกาสรอดก็ลดลงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรคนี้หลังจากเป็นไปแล้วในครั้งแรก
ป้องกันโรคไข้เลือดออก
3 วิธีหลัก ๆ ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้แก่
1) เลี่ยงยุงลายกัด ใช้ยากันยุงประเภทต่าง ๆ ติดมุ้งลวด ใช้มุ้งกันยุงในห้องนอนแบบมิดชิด
2) ปราบยุงลาย ฉีดยาฆ่ายุงภายในบ้าน หากเป็นสถานที่คนหมู่มากอาจพ่นสารเคมีหรือหมอกควัน
3) กำจัดลูกน้ำยุงลาย อันดับแรกสำรวจภาชนะที่มีน้ำขังภายในบ้าน อาทิ กระป๋อง กระถางต้นไม้ ตุ่ม โอ่ง จากนั้นคว่ำภาชนะหรือเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ
CYD-TDV วัคซีนคุณภาพป้องกันไข้เลือดออก
วัคซีนไข้เลือดออกนั้นมีการพัฒนามายาวนานและมีหลากหลายประเภทเพื่อให้ครอบคลุมกับการป้องกันความสูญเสียจากโรคไข้เลือดออกให้ได้มากที่สุด และในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อวัคซีน CYD – TDV (Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine) วัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเห็นผลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกและได้รับการรับรองที่แถบลาตินอเมริกา ประเทศเม็กซิโกในปี 2015 และในแถบเอเชียที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2016
จุดเด่นของวัคซีน CYD-TDV
- ใช้เทคนิคไวรัสลูกผสมของไวรัสเดงกีช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์
- ใช้ได้ผลดีที่สุดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 45 ปี ในพื้นที่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
- แบ่งการฉีดออกเป็น 3 ครั้ง ได้แก่ เดือนที่ 1 เดือนที่ 6 และเดือนที่ 12
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีมาก่อน วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่า
ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี
- ผู้ที่แพ้หรือไวต่อการแพ้ต่อสารออกฤทธิ์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
- ผู้ที่เกิดการแพ้หลังได้รับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเข็มแรก โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นคัน หายใจถี่หอบ หน้าและลิ้นบวม
- ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคใดก็ตามที่ทำให้มีไข้ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อเอดส์ (HIV) หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยา Prednisone หรือเทียบเท่า 20 มก. หรือ : 2 มก./กก. ของน้ำหนักตัวเป็นเวลาตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นต้น
- สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร
ไม่มีใครอยากป่วยเป็นไข้เลือดออกและไม่มีใครอยากเห็นคนรอบตัวป่วยด้วยโรคนี้ ดังนั้นการรับมือกับโรคด้วยการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธีคือสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ นอกจากนี้ด้วยวิวัฒนาการด้านวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ก้าวไกลย่อมเป็นอนาคตของการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ทั่วโลก
ข้อมูล
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
- SANOFIPASTEUR
- WHO 2015
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์