ไข้เลือดออก ระวังป้องกันลดเสี่ยงรุนแรง

3 นาทีในการอ่าน
ไข้เลือดออก ระวังป้องกันลดเสี่ยงรุนแรง

แชร์

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องระวังในช่วงหน้าฝนของทุกปี เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โรคนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิต จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคและป้องกันอย่างถูกวิธี รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกย่อมช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากโรคไข้เลือดออกได้


ไข้เลือดออกคืออะไร

โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเป็นไข้และมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดจะฟักตัวภายใน 8 – 12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคน เชื้อไวรัสในตัวยุงจะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัด ทำให้ติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ภายใน 3 – 15 วัน 


ไข้เลือดออกมีกี่ระยะ

โรคไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะไข้ (2 – 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันตลอดเวลา ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ไม่มีน้ำมูกหรือไอ มีจุดเลือดเล็กบริเวณแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระสีดำร่วมด้วย
  • ระยะวิกฤติ (24 – 48 ชั่วโมง) ระยะนี้ไข้ที่สูงจะเริ่มลดลง แต่อาการจะทรงตัว ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาการจะเริ่มดีขึ้น แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนอาการจะแย่ลง อาจมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาลง ความดันต่ำ เลือดออกง่าย อาเจียนเป็นเลือด ฯลฯ อาจร้ายแรงถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิต ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วันแล้วอาการยังแย่ลง แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที
  • ระยะฟื้นตัว (หลังไข้ลด 24 – 48 ชั่วโมง) เมื่ออาการพ้นระยะวิกฤติและเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยจะกลับมามีความดันปกติ ชีพจรเต้นตามปกติ รับประทานอาหารได้มากขึ้น แต่อาจมีผื่นแดง คัน และจุดเลือดเล็กตามลำตัว ซึ่งจะค่อย ๆ หายไปเอง

แนวทางการรักษาไข้เลือดออก

การรักษาโรคไข้เลือดออกไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการและความรุนแรง หากสังเกตได้เร็ว รู้เร็ว ดูแลตัวเองได้เร็ว ย่อมช่วยให้หายได้ในเวลาไม่นาน และป้องกันอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต 

  • เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติบิดหมาด ๆ เช็ดที่ใบหน้า ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ 
  • รับประทานยาลดไข้ ต้องเป็นยาพาราเซตามอลในกรณีที่มีไข้สูงเท่านั้น ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด และไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจเป็นพิษต่อตับ 
  • ดื่มน้ำให้มาก เพราะการมีไข้สูงหรืออาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำและโซเดียม อาจจิบน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายเสียไป
  • พบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการรุนแรง อาทิ อาเจียนมาก ปวดท้องมากบริเวณชายโครงขวา กดแล้วเจ็บ ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เลือดออกตามเยื่อบุต่าง ๆ ซึมลง หายใจเหนื่อย ไม่รู้สึกตัว ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้โดยป้องกันไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทาโลชั่นหรือพ่นสเปรย์กันยุง เก็บของให้เป็นระเบียบ กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือกระถางทุก ๆ 7 วัน และฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตามคำแนะนำของแพทย์


กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกแล้วอาการรุนแรง

คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ แต่กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อเป็นแล้วอาการจะรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้สูงอายุ เพราะภูมิต้านทานต่ำและมีโรคประจำตัวหลายโรค ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น 


ไข้เลือดออก ระวังป้องกันลดเสี่ยงรุนแรง

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีกี่แบบ

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดที่ 1 วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 6 – 45 ปี โดยแนะนำให้ทำการตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนในกรณีที่ไม่มีประวัติยืนยันการติดเชื้อ โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน
  • ชนิดที่ 2 วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในผู้ที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 4 – 60 ปี สามารถฉีดได้ทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด โดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน 

ผลข้างเคียงที่พบหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

หลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอาจมีอาการปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
สามารถหายได้เองภายใน 1 – 3 วัน ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเวลาที่แพทย์นัดหมาย ควรมาตามนัดและฉีดให้ครบถ้วนเพื่อประสิทธิภาพของวัคซีน


ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแล้วต้องฉีดซ้ำหรือไม่

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเมื่อฉีดครบตามคำแนะนำของแพทย์แล้วไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำและฉีดเพียงชนิดเดียวก็เพียงพอแล้ว


หลังหายจากไข้เลือดออกสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเมื่อไร

ในกรณีที่หายป่วยจากไข้เลือดออก ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เป็น จึงควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือนก่อนฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด


ไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้กี่ครั้ง

ไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งมีความแตกต่างกันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นไข้เลือดออกซ้ำได้ถึง  4 ครั้ง เมื่อเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นเท่านั้น แต่อีก 3 สายพันธุ์ยังมีโอกาสที่จะเป็นได้ ถึงแม้จะมีภูมิคุ้มกันก็ยังมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกจากสายพันธุ์เดิมได้ เพียงแต่อาการและความรุนแรงจะลดลง แต่หากเป็นไข้เลือดออกซ้ำจากเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใหม่อาการและความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แชร์