ตรวจสมรรถภาพปอด ใครบ้างควรตรวจ?

2 นาทีในการอ่าน
ตรวจสมรรถภาพปอด ใครบ้างควรตรวจ?

แชร์

ปอดเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก ถ้าปอดหยุดทำงาน เราจะตายภายในเวลาไม่กี่นาที หรือถ้าปอดทำงานได้น้อยกว่าปกติ เราจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก โรคปอดเรื้อรังเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นช้า ๆ และค่อย ๆ ทำลายเนื้อปอดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีอาการคือ เหนื่อยง่าย หายใจลำบากก็อาจสายเกินไป การตรวจสมรรถภาพปอดในระยะแรก ๆ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง หรือผู้ที่มีอาการทางปอดจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อการวินิจฉัยโรค ประเมินสภาพของผู้ป่วย และติดตามผลการรักษาโรค


ใครเสี่ยงโรคปอด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่

  • ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ใกล้โรงงานที่ปล่อยควันพิษ ควันรถยนต์ ควันบุหรี่

  • ทำงานในที่มีมลภาวะเป็นพิษสูง เช่น ทำงานในโรงงานมีฝุ่น ทำเหมือง โม่หิน มีไอสารเคมี

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง และอาจมีการทำลายเนื้อปอดและหลอดลม เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ


ใครมีอาการทางปอด

ผู้ที่มีอาการทางปอด ได้แก่

  • ผู้ที่ไอเรื้อรัง

  • ผู้ที่มีอาการเหนื่อยง่าย เพราะปอดเมื่อเสียหน้าที่จากการทำลายเนื้อปอดโดยพยาธิสภาพของโรคแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีการกลับคืนมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง กว่าจะมีอาการเหนื่อย ปอดจะถูกทำลายไปมากแล้ว (เกิน 50%) และต้องทนทรมานจากอาการเหนื่อยหอบและหายใจลำบากจนเสียชีวิต


ตรวจสมรรถภาพปอด 

  • การตรวจสมรรถภาพปอดทำได้ง่าย ไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องเตรียมตัวมาก เพียงแต่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมไม่คับ เพื่อให้ออกแรงหายใจได้เต็มที่ และไม่ควรทานอาหารหนักก่อนมาทำ ผู้ที่ใช้ยาขยายหลอดลมควรหยุดยา รวมทั้งหยุดสูบบุหรี่ก่อน 24 ชั่วโมง ถ้าตรวจแบบทั่ว ๆ ไปจะใช้เวลา 15 – 30 นาที
  • การตรวจแบบมาตรฐานที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไปที่เรียกว่า Spirometry นั้น ตรวจปริมาตรที่หายใจเข้าออกและความเร็วที่เราหายใจออกแต่ละครั้ง ซึ่งผลจะได้เป็นกราฟบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอากาศกับเวลาหรือเป็นอัตราความเร็วของการไหลของอากาศกับปริมาตร การแปลผลที่ออกมาจะเป็นผลปกติ (Normal) ผลมีการอุดตันของหลอดลมขณะหายใจออก (Obstructive Pattern) ผลมีปริมาตรอากาศหายใจเข้าออกแต่ละครั้งได้น้อยกว่าปกติ (Restrictive Pattern)และผลมีค่าต่ำกว่าปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน (Mixed Pattern)

  • การตรวจแบบสมบูรณ์นั้นมีการทำอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย การตรวจหลายอย่างที่ทำ ๆ เพื่อการวิจัย แต่ที่นำมาใช้และมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคนั้นมีดังนี้

        o การตรวจวัดหาปริมาตรความจุอากาศปอดทั้งหมด (Total Lung Capacity)
        o การตรวจวัดหาความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอด (Diffusing Capacity)
        o ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Oxygen Saturation) โดยใช้ Oximeter ซึ่งไม่ต้องเจาะเลือด
        o การหาค่าของก๊าซในเลือดแดง (Arterial Blood Gases Determination)

  • การตรวจสมรรถภาพปอดอื่น ๆ ที่ห้องตรวจทำได้ แต่มักทำในการวิจัยมากกว่า ได้แก่ การตรวจหาความต้านทานของหลอดลม (Airway Resistance) การตรวจหาความยืดหยุ่นของปอด (Lung Compliance) การตรวจหาการแลกเปลี่ยนออกซิเจนสูงสุดในอากาศกับเลือด (Maximum Oxygen Uptake) และแรงหายใจเข้าสูงสุด (Maximum Inspiratory Pressure) เป็นต้น

  • การตรวจหาความไวของหลอดลมต่อสิ่งเร้า (Bronchial Challenge Test) เป็นการตรวจหาว่า หลอดลมของผู้ป่วยเมื่อหายใจเอาสิ่งที่ระคายหรือแพ้เข้าไปแล้ว หลอดลมจะรับสนองมากกว่าคนปกติ (Hyperresponsiveness) หรือไม่ การตรวจนี้มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคหอบหืดในกรณีที่ประวัติและการตรวจอื่น ๆ ยังแสดงผลไม่ได้ชัดเจน


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคปอด และระบบทางเดินหายใจ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการทุกวัน 8.00-16.00 น.

แชร์