ทำไมต้อง...ศูนย์รักษาแผล

3 นาทีในการอ่าน
ทำไมต้อง...ศูนย์รักษาแผล

แชร์

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ นอกจากมีแผนกต่าง ๆ ที่เราเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้ว ยังมีศูนย์รักษาแผลอยู่ด้วย


“ศูนย์รักษาแผล คือ แผนกที่ดูแลรักษาผู้ที่มีบาดแผลเรื้อรัง ซึ่งเป็นมานานกว่า 4 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย ด้วยสาเหตุหลัก ๆ จากการเป็นเบาหวาน แผลกดทับ หลอดเลือดดำเสื่อม และหลอดเลือดแดงตีบตัน เป็นต้น หากผู้ป่วยท่านใดเข้าข่ายเหล่านี้ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ว่า ควรได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง”

นอกจากสาเหตุของการเกิดแผลและระยะเวลาการเป็นแผลแล้ว สภาพของแผลก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยประเมินด้วยตัวเองได้ นั่นคือ หากเป็นแผลปกติ ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อใหม่เพื่อรักษาบาดแผลนั้น แต่ถ้าเป็นแผลเรื้อรังจะไม่ดำเนินไปตามกระบวนการหายของแผล ไม่มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยตระหนักว่า อย่านิ่งนอนใจกับบาดแผลที่เกิดขึ้น


image

ชนิดของบาดแผล


แผลที่เกิดจากสาเหตุที่ต่างกันจะมีอาการและลักษณะแตกต่างกันไป ดังนี้

  1. แผลเบาหวาน

    โรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้บ่อยที่สุด เพราะผู้ป่วยเบาหวานมักมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อสะสมในปริมาณมาก ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และมักมีหลอดเลือดแดงตีบ กระทบกับการนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ไม่ดีพอ เมื่อเป็นแผลแล้วจึงหายยาก ส่วนเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยเบาหวานมักเป็นแผลที่เท้า นั่นเป็นเพราะหลอดเลือดแดงที่ขามักตีบและระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อม จึงสูญเสียความรู้สึกเจ็บปวด อันเป็นสัญญาณเตือนตามธรรมชาติ ทำให้เท้าชาอยู่ตลอด เมื่อมีแผลก็จะไม่ทราบเพราะไม่เจ็บ กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าเป็นแผลก็กลายเป็นแผลเรื้อรังลุกลามไปแล้ว นอกจากนี้โรคเบาหวานยังส่งผลให้ระบบประสาทกล้ามเนื้อสั่งงานผิดปกติ ทำให้เท้าผิดรูป บางตำแหน่งของเท้าจึงรับน้ำหนักมากกว่าปกติเกิดเป็นแผลกดทับที่กลายเป็นแผลเรื้อรังได้เช่นกัน นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยเบาหวานมักมีผิวแห้งมาก ทำให้เกิดอาการคัน เมื่อเกาแล้วก็เกิดแผลได้ รวมถึงการตัดเล็บที่เข้ามุมเล็บ ทำให้เกิดเล็บขบ ซึ่งรักษายากและเป็นอันตรายกับผู้ป่วยเบาหวาน

     

  2. แผลกดทับ

    มักเกิดกับผู้ป่วยที่อยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ มักเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต อัลไซเมอร์ สมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดแผลกดทับ ผู้ดูแลจึงต้องคอยปรับเปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วยและคอยสังเกตบริเวณที่กดทับ ซึ่งแบ่งระยะได้ตามลักษณะของแผล คือ

  • ระยะแรก เป็นรอยแดงที่กดแล้วขาวซีดอยู่นาน
  • ระยะที่สอง เป็นแผลตื้น ๆ ที่ผิวหนัง
  • ระยะที่สาม เป็นแผลถึงชั้นไขมัน
  • ระยะสุดท้าย เป็นแผลที่ลึกถึงกระดูก

 

  1. หลอดเลือดดำเสื่อม

    หลอดเลือดดำมีหน้าที่ขนส่งเลือดออกซิเจนต่ำกลับไปรับออกซิเจนที่ปอด โดยไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วงขึ้นมาตามการปั๊มของกล้ามเนื้อที่บีบส่งเลือดกลับมา เมื่อลิ้นที่ทำหน้าที่ปิดเปิดหลอดเลือดดำเสื่อม การไหลเวียนเลือดจึงไม่ดี เกิดการคั่งตามตำแหน่งต่าง ๆ เกิดเป็นเส้นเลือดขอดที่ปูดโปนตามขา ทำให้ขาและเท้าบวม เกิดแผลที่ด้านข้างเท้า


  2. หลอดเลือดแดงตีบตัน

    เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงมีไขมันหรือหินปูนเกาะ รวมถึงโรคต่าง ๆ ของหลอดเลือด เช่น เบาหวาน หลอดเลือดแดงอักเสบ ถ้าเป็นแผล แผลจะซีด และสามารถลึกถึงเส้นเอ็นและกระดูกได้ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก

 

กันไว้ดีกว่าแก้ยังเป็นทางออกที่ดีที่สุด นั่นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดแผล


“ผู้ป่วยควรรักษาโรคประจำตัวให้ดี ดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะโรคต่าง ๆ อาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้ ด้วยวิธีการปฏิบัติง่าย ๆ นั่นคือ การดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน ทั้งด้านโภชนาการการออกกำลังกาย รวมถึงการใส่ใจดูแลร่างกายอยู่เสมอ หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต้องสังเกตเท้าของตนเองทุกวัน”


ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปไกล การพบแพทย์เฉพาะทางในสาขานั้น ๆ ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น ฉะนั้นหากผู้ป่วยเกิดแผลเรื้อรังแล้ว โปรดอย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาด หมดยุคสมัยที่จะยึดความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า ‘เป็นเองก็หายเอง’ แล้ว ยิ่งพบแพทย์เฉพาะทางได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะรักษาหายก็มากขึ้นเท่านั้น


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาแผล 
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์