ใส่หน้ากากออกกำลังกายเรื่องต้องรู้
2 นาทีในการอ่าน
แชร์
ช่วง COVID-19 หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าการสวมหน้ากากขณะออกกำลังกายส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยคลายความกังวลใจและปรับพฤติกรรมขณะออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธี
หน้ากากกับการออกกำลังกาย
การใส่หน้ากาก (Mask) ขณะออกกำลังกายอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะทำให้อึดอัด หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายขึ้น อาจทำให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ปอดและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละบุคคลและชนิดของหน้ากากที่สวมใส่ ดังนี้
- นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีความสามารถในการปรับตัวและทนต่อการหายใจลำบากได้ โดยขณะที่ออกกำลังกายแบบไม่หนักสามารถสวมใส่หน้ากาก (Mask) ได้ แต่หากต้องออกกำลังกายที่หนักขึ้นอาจทำให้เหนื่อยง่ายขึ้นได้ เพราะต้องใช้แรงในการหายใจที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลงได้
มีการประยุกต์ใช้หน้ากากในการออกกำลังกายกับนักกีฬาระดับสูงเช่นกัน โดยหวังว่าจะช่วยในการเพิ่มสมรรถภาพความฟิต แต่จากงานวิจัยในปัจจุบัน ในการออกกำลังกายภายใต้สภาวะปกติ ยังไม่พบว่าสามารถช่วยเพิ่มความฟิตได้มากกว่าการไม่สวมหน้ากาก แต่สามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อระบบหายใจได้ในนักกีฬาที่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำหรือผู้สูงอายุ อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการสวมใส่หน้ากาก (Mask) ขณะออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายและหัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ อาจจะยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
ชนิดหน้ากากต้องรู้เมื่อออกกำลัง
ชนิดของหน้ากากที่สวมใส่มีผลขณะออกกำลังกายเช่นเดียวกัน ได้แก่
- หน้ากาก N95 หากสวมใส่หน้ากากที่ป้องกันอนุภาคเล็ก ๆ ได้ดี เช่น หน้ากาก N95 ก็ยิ่งทำให้อึดอัดเวลาสวมใส่มากขึ้น แม้กระทั่งการพูดคุยขณะใส่ N95 ยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หากสวมใส่ขณะออกกำลังกาย นอกจากสมรรถภาพในการป้องกันฝุ่นและเชื้อไวรัสจะลดลง เนื่องจากหน้ากากไม่แนบกับใบหน้าแล้ว ยังทำให้ผู้ใส่หายใจลำบาก และเหนื่อยง่ายมาก ๆ อีกด้วย แม้จะเลือกใช้แบบมี Valve ที่ช่วยหายใจออกแล้วก็ตาม
- หน้ากากอนามัย หากสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบถูกวิธีจะทำให้อึดอัดและเหนื่อยง่ายเช่นเดียวกัน และขณะออกกำลังกายจะทำให้หน้ากากอนามัยเปียกจากเหงื่อ อาจลดประสิทธิภาพของการป้องกันเชื้อและเพิ่มความเสี่ยงในการสัมผัสใบหน้ามากขึ้น
- หน้ากากผ้า หากสวมใส่หน้ากากผ้ามักหายใจได้สะดวกกว่าแบบอื่น ๆ แต่ไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 หรือป้องกันไวรัสได้หากได้รับการไอหรือจามใส่โดยตรง
- ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าบัฟ อาจเลือกใช้ผ้าคลุมบริเวณปากและจมูกแทนการสวมใส่หน้ากากได้ ช่วยให้หายใจได้สะดวกกว่า สามารถลดระยะทางการกระจายละอองฝอยได้บ้างหากผู้สวมใส่ไอ จาม แต่ประสิทธิภาพการป้องกันจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัยและหากใส่คลุมอยู่ตลอดก็ทำให้เกิดความร้อนและอึดอัดได้เช่นเดียวกัน
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อป้องกัน และลดการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 การออกกำลังกายที่บ้านโดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก (Mask) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากจำเป็นต้องออกกำลังกายนอกบ้าน แนะนำให้ทุกท่านหมั่นสังเกตและประเมินตนเอง เลือกชนิดการออกกำลังกาย และประเภทหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักจนเกินไป หลีกเลี่ยงบริเวณที่คนพลุกพล่าน รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหากออกกำลังกายในสถานที่ปลอดโปร่ง คนไม่พลุกพล่าน ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย
สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
แชร์