วุ้นตาเสื่อม ภัยเงียบทำร้ายดวงตา

2 นาทีในการอ่าน
วุ้นตาเสื่อม ภัยเงียบทำร้ายดวงตา

แชร์

เคยสังเกตไหม ทำไมจึงมองเห็นเงาดำคล้ายหยากไย่หรือยุงบินไปมา แต่พอพยายามจ้องมองแล้วกลับลอยหายไปอย่างรวดเร็ว และมักมองเห็นชัดเจนขึ้นเวลามองไปบนท้องฟ้าหรือพื้นผนังสีขาว หรือบางครั้งเห็นแสงไฟวาบขึ้นมาในตาทั้ง ๆ ที่อยู่ในที่มืด อาการเหล่านี้เกิดจากภาวะที่เรียกว่า วุ้นตาเสื่อม 


รู้จักกับวุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นกันมาก โดยปกติลูกตาจะมีวุ้นตา (Vitreous) อยู่ภายในช่องตาส่วนหลังเพื่อคงรูปร่างของลูกตา ตั้งแต่เกิดวุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลหนืด ใส ยึดติดกับจอตาที่บุอยู่ภายในลูกตาโดยรอบ ซึ่ง 99% ของวุ้นตาเป็นน้ำ ส่วนที่เหลือประกอบด้วยโปรตีน เส้นใย เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารเกลือแร่ต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรืออาจจะเร็วขึ้นในบางภาวะ วุ้นตาจะเสื่อมตัวกลายสภาพเป็นน้ำ เส้นใยไฟเบอร์ขนาดเล็กในตาจะหดจับกันเป็นก้อนตะกอนขุ่น และวุ้นตาจะลอกออกจากผิวจอตา ทำให้เห็นเป็นเงาดำ อาจเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ หรืออาจเป็นวง ๆ ลอยไปมาในตา เรียกภาวะนี้ว่า Posterior Vitreous Detachment (PVD) ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกของวุ้นตาที่เกาะอยู่เป็นวงรอบขั้วประสาทตา

ขณะที่วุ้นตาลอกตัวจากจอตา อาจมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณจอตา ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตาและเกิดเป็นเงาดำบังการมองเห็นบางส่วน หรือหากมีการดึงรั้งของวุ้นตาที่จอตาบางบริเวณที่ยึดติดแน่น อาจทำให้เกิดการฉีกขาดที่จอตา พบได้ 10 – 20% ของผู้ป่วยที่มีวุ้นตาเสื่อม ซึ่งมักทำให้มีอาการเห็นแสงไฟวาบขึ้นในตา โดยจะเห็นชัดเจนในที่มืด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่ภาวะจอตาหลุดลอก (Retinal Detachment) ซึ่งอาจมีอาการเห็นคล้ายม่านบังตาบางส่วน และทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

สาเหตุวุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ภาวะความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
  • การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (Intermediate and Posterior Uveitis) ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะทางกายอื่น ๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
  • ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา จากอุบัติเหตุหรือโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม

  • อายุเกิน 50 ปี
  • สายตาสั้น
  • เคยมีอุบัติเหตุที่ตา
  • ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
  • เบาหวานขึ้นจอตา
  • การอักเสบในตา

อาการวุ้นตาเสื่อม

  • เห็นเงาดำลอยไปมาในตา เห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
  • เห็นแสงวาบในตา 
  • เห็นเงาคล้ายม่านบังตาบางส่วน

วุ้นตาเสื่อม ภัยเงียบทำร้ายดวงตา

ตรวจวินิจฉัยวุ้นตาเสื่อม

ผู้ที่มีอาการวุ้นตาเสื่อมจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวุ้นตาและจอตาโดยแพทย์จะทำการตรวจตาส่วนหน้าก่อน หลังจากนั้นจะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจดูจอตาและวุ้นตาอย่างละเอียดซึ่งหลังจากหยอดยาขยายรูม่านตาแล้วตาจะพร่ามัวสู้แสงไม่ได้และใช้สายตาในระยะใกล้ไม่ได้เป็นเวลาประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง จึงไม่ควรขับรถเอง แนะนำให้พาคนใกล้ชิดมาด้วยและเตรียมแว่นกันแดดเพื่อช่วยลดอาการตาสู้แสงไม่ได้


รักษาวุ้นตาเสื่อม

  1. โดยมากวุ้นตาเสื่อมไม่จำเป็นต้องรักษา การเห็นเงาดำลอยไปมาในตาอาจก่อให้เกิดความรำคาญ แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะสามารถปรับตัวได้และเงาดำหรือแสงวาบจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุด
  2. กรณีที่พบการฉีกขาดของจอตาร่วมด้วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการจี้ความเย็น เพื่อปิดรอยฉีกขาดและป้องกันการเกิดจอตาหลุดลอกตามมา
  3. การรักษาโรคทางตาอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุ


แม้ว่าส่วนใหญ่วุ้นตาเสื่อมมักเกิดจากความเสื่อมตามวัยอย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติควรพบจักษุแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดก่อนรุนแรง


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์