รักษาภาวะกรดไหลย้อนด้วยยา

2 นาทีในการอ่าน
รักษาภาวะกรดไหลย้อนด้วยยา

แชร์

การรักษาภาวะกรดไหลย้อนขึ้นอยู่กับอาการและอายุของผู้ป่วย แพทย์อาจแนะนำให้ทานยาเพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารเบื้องต้น

ภาวะกรดไหลย้อน

  • ภาวะกรดไหลย้อน (GERD) เกิดจากสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลเข้าสู่หลอดอาหาร

  • ภาวะกรดไหลย้อน (GERD) เกิดขึ้นเป็นปกติในทารกและเด็กและจะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น

  • ภาวะกรดไหลย้อน (GERD) อาจทำให้เกิดการอาเจียน ไอ เสียงแหบ และเจ็บปวดขณะกลืน

  • การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและอายุของผู้ป่วย มีวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยา และการผ่าตัด

ยารักษาภาวะกรดไหลย้อน 

1) ยาระดับที่ 1 ยาลดกรด (Antacids) หรือยาลดการผลิตกรด (H2-BLOCKERS) มักจะถูกใช้ก่อน ยาชนิดนี้ช่วยทำให้กรดไม่ไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร มักจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากเป็นยาน้ำ เช่น ชื่อสามัญ (ชื่อทางการค้า)

  • Cimetidine (Tagamet)

  • Ranitidine (Zantac)

  • Famotidine (Pepcid)

  • Nizatidine (Axid)

***ยาทุกชนิดจะมี 2 ชื่อเสมอ คือ ชื่อสามัญและชื่อการค้า (ยี่ห้อ-Brand) ยาที่มีชื่อสามัญเดียวกันถือว่าเป็นยาชนิดเดียวกัน เช่น พาราเซตามอล เป็นชื่อสามัญของยา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อและราคาต่างกัน

2) ยาระดับที่ 2 ยาที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร คือ ยาในกลุ่ม Proton – Pump Inhibitors (PPIs) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการผลิตกรดของกระเพาะอาหารหรือไม่มีการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีรายงานผลข้างเคียงว่า อาจเกิดการท้องผูก คลื่นไส้ และปวดศีรษะ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น

  • Esomeprazole (Nexium)

  • Omeprazole (Prilosec)

  • Lansoprazole (Prevacid)

  • Rabeprazole (Aciphex)

  • Pantoprazole (Protonix)

3) ยาระดับที่ 3 คือ Prokinetic Agents ยาในกลุ่ม Prokinetic Agents ทำหน้าที่ช่วยทำให้หูรูดกระเพาะอาหารปิดได้สนิทขึ้นเพื่อทำให้ไม่เกิดภาวะไหลย้อน ยาในกลุ่มนี้มักจะใช้ร่วมกันกับยาในกลุ่มที่ 1 หรือยาลดกรด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • Metoclopramide (Reglan)

  • Cisapride (Propulsid)

  • Erythromycin (Dispertab, Robimycin)

  • Bethanechol (Duvoid, Urecholine)


***มีการรายงานถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงในเด็กและผู้ใหญ่จากการใช้ยา Metoclopramide และ Cisapride ผลข้างเคียงทางจิตคือ ภาวะสับสนกังวล ท้องเสีย คลื่นไส้ ยาในกลุ่มนี้มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังทานยาชนิดอื่นอยู่ด้วยหรือไม่


วิธีลดภาวะกรดไหลย้อน 

นอกจากการใช้ยาแล้วยังมีวิธีอื่นที่จะใช้ลดอาการที่เกิดจากภาวะไหลย้อนได้ โดยการปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานอาหารในปริมาณครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน 2 – 3 ชั่วโมง

  • นอนให้ศีรษะสูง 6 – 8 นิ้ว โดยใช้ท่อนไม้รองพื้นเตียงบริเวณด้านหัวเตียงที่ศีรษะนอนทับ การใช้หมอนหนุนให้สูงขึ้นจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากทำให้ลำตัวพับงอ

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มช็อกโกแลต กาแฟ อาหารที่มีไขมันหรือกรดสูง น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

  • หากอาการไม่รุนแรงนัก การออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องจะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น 

วิธีสุดท้ายที่จะใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นการแก้ไขทางกายภาพที่บริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเพื่อเพิ่มแรงกดดันที่บริเวณส่วนล่างของหลอดอาหาร ทำให้ลดภาวะไหลย้อนกลับลง

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.
พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แชร์