รักษาโรคข้อด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

3 นาทีในการอ่าน
รักษาโรคข้อด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

แชร์

เมื่อพูดถึงการผ่าตัด คนทั่วไปจะกลัวว่าหลังผ่าตัดแล้วจะมีบาดแผลขนาดใหญ่ ต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลานาน กว่าจะฟื้นตัวทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่มาถึงวันนี้การผ่าตัดในบางกรณีอย่างการรักษาและซ่อมแซมข้อหัวไหล่และข้อเข่าได้พัฒนามาเป็นการรักษาผ่านการส่องกล้อง ซึ่งแผลผ่าตัดจะเล็กมากประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตรเท่านั้น การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบข้อมีน้อยมาก ทำให้การฟื้นตัว การขยับเคลื่อนไหวของข้อทำได้ดีในระยะเวลาน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก


นายแพทย์พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ และแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือ FIFA MEDICAL CENTRE OF EXCELLENCE กล่าวย้อนความทรงจำว่า “ผมสำเร็จการศึกษาเรื่องการผ่าตัดส่องกล้องกลับมาเมืองไทยในปีพ.ศ. 2544 – 2545 ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีการรักษาข้อด้วยการส่องกล้อง ต่อจากนั้นราวอีก 2 ปี คนไทยจึงยอมรับการรักษาด้วยกรรมวิธีนี้ และนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”


ปัจจุบันคุณหมอพรเทพทำการรักษาคนไข้ถึงปีละกว่า 200 ราย ซึ่งการรักษาอาการเจ็บข้อที่ไหล่ของคนไทยมักจะกินยาและทำกายภาพบำบัด ซึ่งต้องใช้เวลานาน อาจถึง 6 – 7 เดือน แต่บางรายเป็นปีถึงจะทุเลาเบาบางลง หรือบางรายก็ไม่หายต้องปล่อยให้ทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวด การส่องกล้องวินิจฉัยโรคข้อและการรักษาซ่อมแซมได้ทันทีเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เมื่อทำสำเร็จแล้ว อาการเจ็บปวดที่ทุกข์ทรมานมานานก็จะหายไป


ผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคข้อ

การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคข้อเป็นการพยายามลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดสมัยก่อน ซึ่งต้องเข้าไปเย็บเส้นเอ็นเล็ก ๆ เส้นเดียวที่หัวไหล่ ต้องเปิดแผลกว้าง ต้องเลาะกล้ามเนื้อออก ดึงเอาข้อหลุดออกมาจึงจะเย็บเอ็นเส้นนั้นได้ แล้วก็ต้องจัดทุกอย่างเข้าที่ ต้องเย็บกล้ามเนื้อที่เปิดเข้าไปเมื่อทำเสร็จ กว่าแผลจะหายและเริ่มขยับได้ก็ประมาณ 7 วัน ทั้งแผลบวมและมีแผลเป็นแนวยาว ขณะที่การส่องกล้องจะเกิดรูเล็ก ๆ ตัดขั้นตอนของการเปิดเข้าไปถึงเอ็นที่มีปัญหาได้โดยตรง

จุดประสงค์ของการส่องกล้อง คือ ทำให้ผู้รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้น เกิดแผลเล็ก โอกาสในการติดเชื้อจะน้อยลง การฟื้นตัวสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น เช่น การทำข้อหัวไหล่ คนไข้นอนโรงพยาบาล 5 – 7 วัน กว่าจะเคลื่อนไหวได้ก็ 2 – 3 อาทิตย์ขึ้นไป และกว่าจะเคลื่อนไหวได้เต็มที่ก็ต้อง 3 เดือน แต่การส่องกล้องหลังจากการรักษาสามารถกลับบ้านได้เลยหรืออาจให้นอนดูอาการสัก 2 – 3 ชั่วโมง หรือนอนพักสัก 1 คืน เมื่อถึง 2 วันก็เริ่มขยับได้ดีแล้ว ช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าดั้งเดิม


สังเกตอาการเริ่มเป็นโรคข้อ

เมื่อไรก็ตามที่หัวไหล่ โดยเฉพาะเวลานอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน เกิดอาการปวดไหล่อย่างรุนแรง ปวดจนต้องตื่นขึ้นมา ในบางรายอาจถึงกับไม่อยากนอนหลับเลย เพราะปวดทรมานมาก แสดงว่ามีปัญหาข้อหัวไหล่ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะนอกจากจะแก้ไขสาเหตุของการเจ็บปวดแล้ว การที่นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่พอยังทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพราะอวัยวะบางส่วนในร่างกายที่ทำงานได้ดีในยามหลับพักผ่อนจะมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง นอกจากนี้สามารถสังเกตได้จากการเคลื่อนไหวในกรณีที่ข้อไหล่ติดขัด ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด เช่น เกาหลังไม่ถึง ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ เป็นต้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา


ผู้ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาเรื่องข้อ

ผู้สูงอายุอาจเกิดหินปูนเกาะกระดูกหรือข้อเสื่อมได้ ในรายที่ใช้กำลังแขนเคลื่อนไหวไปด้านบนศีรษะมาก เช่น การแบกหามของหนัก นักกีฬายกน้ำหนัก นักกีฬาเทนนิส นักกีฬาแบตมินตัน ว่ายน้ำ ขว้างจักร เป็นต้น


ป้องกันปัญหาเรื่องข้อ

การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเรื่องข้อ ทำได้โดยต้องหมั่นบริหารให้เอ็นมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา เช่น การบริหารร่างกายด้วยการเคลื่อนไหวทุกส่วนในร่างกายอย่างช้า ๆ  และยืดให้สุดในทุกส่วน เช่น รำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น หรือในกรณีที่เป็นนักกีฬาก็จะมีเทคนิคในการวอร์มอัพร่างกายของกีฬาแต่ละชนิดไว้แล้ว ควรปฏิบัติให้ถูกต้องในระยะเวลาพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องข้อได้ต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเพื่อจะได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติตลอดไป


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์