เย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (THD) รักษาได้ไม่ต้องผ่า

2 นาทีในการอ่าน
เย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (THD) รักษาได้ไม่ต้องผ่า

แชร์

แม้การรักษาริดสีดวงจะมีหลายวิธี แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยี ADVANCED MIS ผนวกกับความชำนาญของศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ในการรักษาริดสีดวงแบบไม่ผ่าตัด วิธีเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่นอกจากไม่ต้องผ่าตัด ยังเจ็บน้อย ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ


รักษาริดสีดวงแบบไม่ผ่าตัด
 

วิธีการเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวาร จากนั้นแพทย์จะทำการเย็บผูกเส้นเลือดที่ส่งเลือดมาเลี้ยงหัวริดสีดวง และเย็บรั้งหัวริดสีดวงกลับเข้าไปด้านในทวารหนัก ทำให้หัวริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมากลับเข้าที่และในขณะเดียวกันหัว ริดสีดวงจะค่อย ๆ ยุบและฝ่อลง โดยไม่มีการตัดเนื้อเยื่อริดสีดวง ไม่มีแผลที่ทวารหนักหรือกล้ามเนื้อหูรูด


ระยะริดสีดวงที่ควรรักษา

วิธีการเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงทวารภายในระยะที่ 3 หัวริดสีดวงทวารออกมานอกทวารหนักแล้วกลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องใช้นิ้วมือดัน และระยะที่ 4 ริดสีดวงที่โผล่ยื่นค้างอยู่ด้านนอกทวารหนัก อาจมีอาการคันและอักเสบ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการเท่านั้น

Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD

หลังจากการเย็บผูกหลอดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังริดสีดวงทวารแล้ว ริดสีดวงจะมีขนาดที่เล็กลง ขั้นตอนต่อไปคือ

  1. ใช้ไหมเย็บต่อลงมาด้านล่างของทวารหนัก
  2. ริดสีดวงที่หย่อนหรือโผล่ยื่นออกทางทวารหนักจะถูกดึงเข้าที่
  3. ผูกไหมทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน เพื่อยึดให้ริดสีดวงไม่โผล่ออกมา

ข้อดีของ THD

  • ไม่มีการตัดเนื้อเยื่อริดสีดวงออก ไม่มีแผลผ่าตัด 
  • เจ็บน้อย 
  • เลือดออกน้อย
  • ฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล 
  • ขับถ่ายได้ตามปกติ
  • ลดภาวะแทรกซ้อน

อาการข้างเคียงหลังรักษา

โอกาสเกิดอาการข้างเคียงหลังรักษาด้วยวิธีการเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวงมีน้อยมาก อาทิ

  • ปัสสาวะขัดชั่วคราว
  • อาจมีเลือดออก
  • อาจมีอาการปวด

ปรับพฤติกรรมป้องกันริดสีดวงเป็นซ้ำ

  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้วต่อวัน
  • ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง
  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่เบ่งถ่าย ไม่นั่งนาน
  • ไม่ปล่อยให้ท้องผูก 
  • หมั่นสังเกตหลังขับถ่ายว่ามีเลือดปนออกมาหรือไม่
  • เลี่ยงการยกของหนักหรือออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งหนัก ๆ (ยกน้ำหนัก) อาจส่งผลให้ความดันเพิ่มขึ้น หลอดเลือดดำทวารหนักมีอาการโป่งพอง 
  • เลี่ยงอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ท้องผูกและขับถ่ายยาก

 

ริดสีดวงทวารหนักหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติและชะล่าใจปล่อยไว้ไม่รักษาทั้งที่ความจริงแล้วหากได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกวิธีย่อมมีโอกาสหายและลดความรุนแรงของโรคได้ฉะนั้นหากสงสัยหรือมีอาการถ่ายเป็นเลือดผิดปกติควรพบแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อตรวจและรักษาก่อนโรคจะลุกลามไปมากยิ่งขึ้น



สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์