เจ็บข้อศอกเพราะกอล์ฟและเทนนิสเป็นเหตุ

3 นาทีในการอ่าน
เจ็บข้อศอกเพราะกอล์ฟและเทนนิสเป็นเหตุ

แชร์

นักกอล์ฟ นักเทนนิส อาจเคยมีอาการ เช่น ซ้อมกอล์ฟมาก ๆ แล้วค่อย ๆ เจ็บบริเวณข้อศอก ใกล้ ๆ ปุ่มกระดูกนูน ๆ ด้านนอกหรือด้านในข้อศอก และบางครั้งตีแรงเกินไป หรือตีโดนพื้น (ขุดดิน) แล้วเจ็บขึ้นมาทันทีที่บริเวณข้อศอก มีอาการปวดมากขึ้นเวลาตีกอล์ฟหรือเทนนิส บางครั้งตื่นเช้ากระดกข้อมือไม่ค่อยได้ เนื่องจากเจ็บข้อศอกมาก และรู้สึกเหมือนแขนไม่ค่อยมีแรง แม้แต่จะยกแก้วกาแฟหรือเปิดประตูรถยนต์ หรือบางครั้งบิดผ้าก็ปวดมาก อาการเหล่านี้เป็นอาการของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะที่ปุ่มกระดูกข้อศอกอักเสบ เรียกว่า โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในนักกอล์ฟ นักเทนนิส โดยเฉพาะในผู้เล่นที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป  


โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกที่รู้จักกันดี มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ได้แก่ โรคข้อศอกเทนนิส หรือ Tennis Elbow และโรคข้อศอกนักกอล์ฟ หรือ Golfer’s Elbow เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา แต่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำ ๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาด เช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะกอล์ฟและเทนนิส


สาเหตุเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคเอ็นอักเสบ คือ ภยันตรายต่อเอ็นกล้ามเนื้อ โดยแรงตึงหรือการสะบัด หรือการใช้งานซ้ำ ๆ มากเกินไป  (Overuse Injury) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะบริเวณข้อศอกที่มีการบาดเจ็บระดับเซลล์ หรือถ้ารุนแรงมากก็อาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อขึ้นได้  แต่ทั้งนี้อาจพบว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็ได้ 


อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกตรงเอ็นกล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะเวลาเกร็งกล้ามเนื้อในการกระดกขื้อมือขึ้นหรือลง และมีจุดกดเจ็บในตำแหน่งเดียวกัน เวลาเกร็งกล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้นหรือลง สู้กับแรงต้านจะมีอาการปวดมากขึ้น ความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันไป อาจปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนไม่สามารถใช้แขนได้

โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis Elbow) จะปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกเวลาขยับหมุนข้อศอก เวลาสะบัดข้อมือขึ้นแรง ๆ หรือเวลากำสิ่งของในมือ เช่น ลักษณะของการตีลูกเทนนิสแบ็กแฮนด์ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านนอก

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก พบในนักเทนนิสที่ตีแบคแฮนด์สะบัดข้อมือแรงๆและในนักกอล์ฟที่วงสวิงยังไม่ ค่อยถูกต้องนัก ตีโดนพื้นหรือซ้อมมากเกินไป มักจะเกิดการบาดเจ็บได้บ่อยในกรณีที่ไม่มีการวอร์มอัพ หรือบริหารยืดเหยียดเอ็นกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนที่จะซ้อมหรือออกรอบ การที่ เกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบที่ข้อศอกด้านนอกพบบ่อยกว่าด้านใน  เนื่องจากกล้ามเนื้อด้านหลังแขนท่อนล่างที่ใช้ในการกระดกข้อมือและเหยียด นิ้วมือมีต้นกำเนิดเป็นเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะรวมกันที่ปุ่มกระดูกข้อศอกด้าน นอก  กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ในคนส่วนใหญ่มักจะไม่แข็งแรงมากนัก  และมีการยืดเหยียดได้น้อย ในการเล่นกอล์ฟหรือเทนนิสจึงจำเป็นต้องฝึกกล้าม เนื้อให้แข็งแรงและมีการยืดเหยียดที่ดี  ซึ่งจะสามารถเร่งความเร็วหัวไม้ได้

โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow) จะปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านในและกระดกข้อมือลง เช่น ลักษณะของการสวิงกอล์ฟแรง ๆ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านใน มักพบในนักกอล์ฟที่ตีเก่งแล้ว ตีได้ไกล เนื่องจากไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องวงสวิง แต่ปัญหาเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกิน พบบ่อยบริเวณข้อศอกขวาด้านใน (ในนักกอล์ฟมือขวา)

 


รักษาเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

หลังจากการเล่นหรือการใช้งานแล้ว ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นมาทันที ควรใช้หลักการรักษาด้วยการพัก (Rest) ใช้ความเย็นประคบ (Ice) ใช้ผ้ายืดพันป้องกันไม่ให้บวม (Compression) และวางข้อศอกสูงเวลานั่งหรือนอนโดยใช้หมอนรอง (Elevation) หลังจากผ่านระยะเฉียบพลันแล้ว  อาการปวดน้อยลง และยุบบวมแล้วก็ให้ค่อย ๆ เริ่มบริหารกล้ามเนื้อได้ อาจใช้ยารับประทานในกลุ่มต้านการอักเสบ หรือใช้ในรูปของยาทา ในบางรายที่ปวดมาก ๆ อาจต้องมีการฉีดยาสเตียรอยด์ลดการอักเสบเฉพาะที่ และถ้ามีการบาดเจ็บซ้ำซากหรือเรื้อรังก็อาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดรักษา

การรักษาให้หายจำเป็นต้องพักรับประทานยา  และระหว่างรักษาต้องไม่ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้น  มีนักกีฬาหลายท่านที่จำเป็นต้องซ้อมหรือแข่งขันทั้ง ๆ ที่ยังไม่หายดี ถ้าอาการไม่มากก็อาจจะใส่สายรัดพยุงรัดใต้ข้อศอกช่วยป้องกันไม่ให้มีการดึงรั้งบริเวณที่เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบมากเกินไป เป็นการลดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน


ป้องกันเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

การฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเป็นปกติจำเป็นต้องบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างให้แข็งแรงจึงจะกลับมาเล่นกอล์ฟหรือเทนนิส หรือทำงานได้เหมือนเดิม ถ้าไม่บริหารหรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพียงพอจะเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายและมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง


ท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ

ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟและนักเทนนิส

  1. ควรบริหารข้อมือ ข้อศอก ให้กล้ามเนื้อยืดเหยียดได้เต็มที่ก่อนการซ้อมหรือการเล่นทุกครั้ง

  2. ควรบริหารกล้ามเนื้อแขนสม่ำเสมอทุกวัน เช่น  การบีบสปริงมืออย่างอ่อน ๆ หรือบีบลูกบอลนิ่ม ๆ การใช้ตุ้มน้ำหนักขนาดเบา ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวและยืดเหยียดตัว และหมุนข้อมือให้แข็งแรง

  3. การบริหารต้องเริ่มต้นทีละน้อย ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างการบริหารต้องหยุดพัก


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์