สำรวจโรคตับอ่อนก่อนสาย

5 นาทีในการอ่าน
สำรวจโรคตับอ่อนก่อนสาย

แชร์

ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาล จึงไม่ควรละเลยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตับอ่อน เพราะบางครั้งอาจไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน กว่าจะรู้ตัวก็รุนแรงและยากต่อการรักษา จึงควรรู้เท่าทันและหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้มาพบแพทย์ได้โดยเร็วที่สุด

 

ความสำคัญของตับอ่อน

ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่คนมักเข้าใจผิดและสับสนกับตับ (Liver) ทั้งที่สองอวัยวะนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากและอยู่คนละตำแหน่งในช่องท้อง เนื่องจากเวลาเกิดโรคอาจมีอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน

ตับอ่อนเป็นอวัยวะหนึ่งในช่องท้อง อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบน และวางพาดในแนวขวาไปซ้าย ตำแหน่งจะอยู่ค่อนไปทางด้านหลังเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ และอยู่ใกล้ชิดกับอวัยวะสำคัญหลายอย่าง


หน้าที่ตับอ่อน

ตับอ่อนมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่

  1. ผลิตเอนไซม์ (Enzyme) หลายชนิด เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เอนไซม์ที่สำคัญ เช่น อไมเลส (Amylase) และไลเปส (Lipase)
  2. ผลิตฮอร์โมน (Hormones) ที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon)

ดังนั้นหากเกิดโรคที่ทำให้ตับอ่อนเสียหน้าที่ย่อมส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี


โรคของตับอ่อน

ตับอ่อนเหมือนอวัยวะอื่น ๆ คือ สามารถเกิดโรคได้หลายอย่าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ การอักเสบของตับอ่อนและมะเร็งตับอ่อน

1) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของตับอ่อนแบบเฉียบพลัน ความรุนแรงของการอักเสบอาจเป็นได้ตั้งแต่รุนแรงน้อยจนถึงรุนแรงมาก ซึ่งส่งผลต่ออาการแสดงของผู้ป่วย

สาเหตุ : การเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันโดยมากเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโอกาสเกิดโรคจะสัมพันธ์กับปริมาณและระยะเวลาในการดื่ม การสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบจากแอลกอฮอล์ และอีกสาเหตุเป็นภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดี โดยผู้ป่วยอาจไม่ทราบหรือไม่มีอาการนำของนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนก็ได้

อาการ : ตับอ่อนอักเสบมีอาการสำคัญ คือ ปวดท้อง โดยมักจะปวดบริเวณช่องท้องส่วนบน คือลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา อาการปวดอาจร้าวทะลุหลัง ผู้ป่วยไม่สามารถหาท่าที่สบายได้ ในช่วงแรกมักไม่มีไข้ แต่เมื่ออาการอักเสบรุนแรงขึ้นอาจมีไข้ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice) ร่วมด้วย

ความรุนแรง : ผู้ป่วยจะมีอาการตามความรุนแรงของการอักเสบคือ ผู้ป่วยบางรายที่ตับอ่อนอักเสบไม่รุนแรง (Mild Pancreatitis) จะปวดท้องเพียงเล็กน้อยและดีขึ้นเองใน 1 – 3 วัน ขณะที่ผู้ป่วยอาการรุนแรง (Severe Pancreatitis) จะปวดท้องมาก และอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย (Systemic Inflammatory Response) หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการเน่าตายของตับอ่อน (Necrotizing Pancreatitis) และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

2) ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic Pancreatitis) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของตับอ่อนซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานจนทำให้ตับอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ มีการเกิดพังผืดในตับอ่อน เกิดแคลเซียมในเนื้อตับอ่อน และอาจพบนิ่วในท่อตับอ่อนร่วมด้วย

สาเหตุ : การเกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรังในปัจจุบันมีสาเหตุหลักคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน แต่อาจพบผู้ป่วยส่วนน้อยที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลยก็เป็นได้ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของยีนผู้ป่วย

อาการ : ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังมีอาการและภาวะแทรกซ้อนได้หลากหลาย บางภาวะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา อาการสำคัญคือ ปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนแบบเรื้อรัง บางครั้งอาจปวดท้องรุนแรงแบบฉับพลันขึ้นได้ อาการปวดท้องเป็นอาการสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หลายครั้งไม่สามารถทำงานได้

ความรุนแรง : ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การสูญเสียหน้าที่ของตับอ่อน ทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีหรือควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก หากตับอ่อนอักเสบจนเกิดพังผืดอาจไปกดรัดท่อน้ำดีส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือพังผืดอาจรัดลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับอ่อนได้อีกด้วย

สำรวจโรคตับอ่อนก่อนสาย

3) มะเร็งตับอ่อนส่วนต้น

มะเร็งตับอ่อนส่วนต้น (CA Head of Pancreas) ส่วนต้นของตับอ่อนเป็นตำแหน่งที่เกิดมะเร็งได้บ่อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของตับอ่อน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่พบว่าบางภาวะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ เช่น การสูบบุหรี่ การเป็นตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การเป็นเนื้องอกในท่อตับอ่อนบางชนิด (IPMN)

สาเหตุ : มะเร็งตับอ่อนส่วนต้นเป็นโรคที่วินิจฉัยในระยะเริ่มต้นได้ค่อนข้างยาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่ตรวจโรคในระยะเริ่มต้นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือดหรือตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการมักอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว

อาการ : ผู้ป่วยส่วนมากมาพบแพทย์ด้วยอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจากก้อนมะเร็งทำให้ท่อน้ำดีส่วนปลายอุดตัน ในผู้ป่วยที่ตาเหลืองไม่มากอาจสังเกตพบว่าปัสสาวะสีเข้มขึ้นจากเดิม บางคนอาจพบว่าเกิดเบาหวานทั้งที่ไม่เคยพบก่อนหน้านี้ หรือในผู้ป่วยเบาหวานอาจพบว่าระดับน้ำตาลควบคุมได้ยากขึ้นทั้งที่เคยคุมได้มาตลอด

ความรุนแรง : หากก้อนมะเร็งโตมากอาจทำให้เกิดอาการลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนหรือใต้ชายโครงขวาและปวดหลังร่วมด้วยจากการที่มะเร็งลุกลามไปถึงเส้นประสาททางด้านหลัง ในผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามและกระจายไปทั่วช่องท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องมานจากการมีน้ำในช่องท้องปริมาณมากได้ 

4) มะเร็งตับอ่อนส่วนปลาย

มะเร็งตับอ่อนส่วนปลาย (CA Tail of Pancreas) ลักษณะของโรคคล้ายมะเร็งตับอ่อนส่วนต้น แต่เนื่องจากตับอ่อนส่วนปลายอยู่ค่อนไปทางช่องท้องด้านซ้ายและไม่ได้อยู่ใกล้กับท่อน้ำดี ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องที่ช่องท้องด้านบนซ้ายหรือใต้ชายโครงซ้าย โดยไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย


ตรวจวินิจฉัยโรคของตับอ่อน

การตรวจวินิจฉัยโรคของตับอ่อนทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อเลือกการตรวจเลือดหรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นำไปสู่การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

เทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคของตับอ่อน เช่น

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าเอนไซม์ตับอ่อน ได้แก่ อไมเลส (Amylase), ไลเปส (Lipase) แพทย์จะส่งตรวจเลือดเพื่อหาค่าเหล่านี้ในกรณีสงสัยภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ค่าเหล่านี้อาจสูงขึ้นจากภาวะอื่นได้ด้วยจึงต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการแปลผล
  • การเจาะเลือดเพื่อหาค่ามะเร็ง (Tumor Maker) สำหรับมะเร็งตับอ่อน คือ ค่า CA19-9 ซึ่งอาจพบว่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน อย่างไรก็ดีไม่แนะนำให้ใช้ค่านี้ในการวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะต่ำ กล่าวคือ หากค่านี้ปกติ ไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่มีมะเร็งตับอ่อน และในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน อาจมีค่าเลือดนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Pancreas) และการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI/MRCP) ทั้งสองอย่างเป็นการตรวจที่สำคัญในการวางแผนการรักษา สามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ หากเป็นมะเร็งมีการกระจายไปตำแหน่งอื่นหรือไม่ ตัวก้อนติดเส้นเลือดที่สำคัญหรือไม่
  • การส่องกล้องและอัลตราซาวนด์ผ่านทางกล้อง (Endoscopic Ultrasound) เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคของตับอ่อน เนื่องจากแพทย์สามารถทำการเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้

การรักษาโรคของตับอ่อน

การรักษาโรคของตับอ่อนขึ้นอยู่กับตัวโรค หากเป็นการอักเสบของตับอ่อน โดยมากมักไม่ต้องผ่าตัด แต่หากเป็นก้อนเนื้อ หรือมะเร็ง การผ่าตัดจะเป็นการรักษาหลัก ซึ่งการผ่าตัดตับอ่อนถือเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง แต่หากทำโดยผู้ชำนาญ ภาวะแทรกซ้อนจะค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ในปัจจุบันสามารถทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ตัดต่อเส้นเลือดในกรณีที่ก้อนมะเร็งโตจนกดเส้นเลือดเพื่อให้สามารถกำจัดมะเร็งได้หมด หรือสามารถทำการผ่าตัดตับอ่อนโดยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

โรคตับอ่อนไม่ใช่โรคไกลตัวอย่างที่คิด เพราะฉะนั้นนอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์