โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

2 นาทีในการอ่าน
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

แชร์

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มักเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ  สาเหตุโรคไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุจากพันธุกรรม ซึ่งโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น

 

อาการบอกโรค

  • ผื่นแดง
  • แห้งเป็นขุย
  • คันยุบยิบ
  • เป็น ๆ หาย ๆ
  • หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ
  • คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก
  • ยิ่งเกา ยิ่งคัน 

 

ตำแหน่งที่พบบ่อย

  • แก้ม
  • คอ
  • ข้อพับแขน
  • ขา

ในเด็กมักพบบริเวณใบหน้าและศีรษะ ในเด็กบางคนเมื่ออายุมากขึ้นอาการจะดีขึ้นเหลือเพียงผิวแห้ง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบว่าแพ้แมลง ยุง มด จะทำให้มีอาการคันและเป็นผื่นได้ง่าย มีอาการนานกว่าคนทั่วไป และนอกจากนี้อาจมีอาการแพ้จากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารบางชนิดได้ง่าย เช่น แพ้ครีมกันแดด ยาย้อมผม โลหะ

 

อาการที่พบร่วม

คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีผิวแห้ง มีอาการคันง่าย จึงมักเกาจนเป็นแผลที่ผิวหนัง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย หากติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง หากติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด ในเด็กมักพบเป็นหูดข้าวสุก ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามรถติต่อได้จากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน

 

การวินิจฉัย

แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการทางผิวหนัง ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย และการตรวจ Patch Test เพื่อตรวจหาชนิดของสารเคมีหรือโลหะที่แพ้ โดยนำสารต่าง ๆ ที่คาดว่าจะแพ้ใส่ลงใน Finn Chamber แปะไว้ที่หลัง 3 วัน แล้วเปิดดูปฏิกิริยาของคนไข้กับสารเคมีหรือโลหะเหล่านั้น

 

การรักษา

การรักษาขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค

  • ระยะเฉียบพลัน มีตุ่มน้ำและน้ำเหลือง ควรใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำเกลือที่สะอาดประคบแผลให้น้ำเหลืองแห้งก่อนจึงตามด้วยการทายา ยาที่ได้ผลเร็วคือยาสเตียรอยด์ เมื่อผื่นหายแล้วต้องหยุดยา ไม่ควรซื้อยาสเตียรอยด์มาทานเอง เพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว

  • ระยะผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ควรใช้ยาที่ไม่มีสเตียรอยด์ทาและทานยาแก้แพ้

  • ระยะที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาสเตียรอยด์หรือฉายแสงอัลตราไวโอเลต ที่เรียกว่า Phototherapy ซึ่งช่วยกดภูมิในร่างกาย ไม่ให้ไวต่อสิ่งแวดล้อม และผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยาสเตียรอยด์

 

ป้องกันภูมิแพ้ผิวหนัง

  • ทำความสะอาดร่างกายและล้างมืออยู่เสมอ

  • ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสารกันเสีย และอ่อนโยนต่อผิว

  • ทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดมาก เนื้อหยาบหนา หรือผ้าขนสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง แมลง และยุงชุกชุม

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

 

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผิวหนังและความงาม
ชั้น 5 อาคารบางกอกพลาซ่า โรงพยาบาลกรุงเทพ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 8.00 - 17.00 น.

แชร์