ปัญหาข้อไหล่ไม่ไกลตัว ผ่าแผลเล็ก MIS รักษาได้

3 นาทีในการอ่าน
ปัญหาข้อไหล่ไม่ไกลตัว ผ่าแผลเล็ก MIS รักษาได้

แชร์

ข้อไหล่เป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของร่างกาย ช่วยให้ยกแขนและเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ต้องการได้ เมื่อเริ่มเจ็บหัวไหล่ ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด เกาหลังไม่ถึง ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หรือปวดไหล่อย่างรุนแรง ปวดจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือไม่สามารถเล่นกีฬาได้ แสดงว่ามีปัญหาข้อไหล่ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถรักษาซ่อมแซมหัวไหล่ที่บาดเจ็บให้กลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง

 

จัดการปัญหาข้อไหล่

ปัญหาเกี่ยวกับไหล่ไม่ว่าจะเป็นอาการบวม เจ็บ หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่อาจเกิดจาก

 

ปวดไหล่, ปัญหาข้อไหล่, ผ่าตัดแผลเล็ก, MIS, BASEM

1) การใช้งานหรือบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา  

อาการบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอลที่ทำหน้าที่ผู้รักษาประตูหรือผู้ที่ต้องเล่นลูกทุ่มบ่อย ๆ หรือผู้ที่ใช้กำลังแขนเคลื่อนไหวไปด้านบนศีรษะมาก เช่น ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก เทนนิส แบตมินตัน เป็นต้น

 

สาเหตุ

  • การปะทะ
  • กระชากไหล่
  • การเหนี่ยวแขน
  • ล้มโดยใช้แขนเท้าพื้น
  • ล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง
  • เหวี่ยงหรือขว้างบอลอย่างรุนแรง
  • เอื้อมแขนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการกระชากของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นหัวไหล่ที่หลุดเคลื่อนหรือฉีกขาดได้

 

การรักษา

การรักษาอาการบาดเจ็บของหัวไหล่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บ เช่น

  • บาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น ทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ 

  • บาดเจ็บกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน (Arm Sling) เพื่อไม่ให้มีการขยับ หากข้อไหล่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาจเนื่องจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการที่ต้นเหตุ เพื่อผ่าตัดซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาดจากกีฬาหรืออุบัติเหตุ ด้วยเทคนิคผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ช่วยให้นักกีฬาสามารถฟื้นตัวขยับเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เร็วในระยะเวลาน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผลแบบเดิม

 

ปวดไหล่, ปัญหาข้อไหล่, ผ่าตัดแผลเล็ก, MIS, BASEM

2) ผู้สูงอายุมีปัญหาข้อเสื่อมหรือหินปูนกระดูก

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาหินปูนเกาะกระดูกเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมของร่างกายหรือมีความเสียหายเกิดขึ้นบริเวณข้อ เช่น หัก แตก โดยร่างกายจะดึงแคลเซียมเข้าไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อม จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก เพิ่มพูนขึ้นมาจนกระดูกบริเวณนั้นผิดรูปร่างจากที่ควรเป็นผลกระทบจากหินปูนที่มาเกาะกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อไหล่ อาจส่งผลให้เกิดอาการกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ โดยกระดูกที่งอกออกมากดทับเส้นเอ็นหรือเส้นประสาททำให้คนไข้เกิดอาการปวด

ข้อควรระวังทั้งในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ คือ การอักเสบร่วมกับความเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานข้อไหล่หนัก ๆ เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องมีการใช้ไหล่มาก ๆ เช่น แบดมินตัน ยกเวท ชกมวย เทนนิส เป็นต้น คนไข้ควรสังเกตตนเองว่ามีการงอกปูดของกระดูกในร่างกายที่ผิดปกติจนคลำได้จากภายนอกหรือไม่ หากพบควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

 

การรักษา

การรักษาอาการหินปูนเกาะกระดูกและกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ สามารถทำได้โดยการผ่าตัดกรอกระดูกที่งอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ ด้วยเทคนิคผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 0.5 – 1 เซนติเมตร คนไข้เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบข้อ ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

ในกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดผ่านกล้องข้อไหล่ คือ เมื่อรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น รับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผลเป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 6 เดือน การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองทำกิจวัตรประจำวันได้อีกครั้ง

 

หากเกิดอาการผิดปกติหรือข้อไหล่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้ข้อไหล่บาดเจ็บเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรมีการวอร์มอัพทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา ยืดเส้นและฝึกบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบหัวไหล่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่น รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสะบักให้มีความแข็งแรงก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยให้กระดูกสะบักและข้อไหล่ทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่น และเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องข้อได้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง



สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์