ตรวจคุณภาพอสุจิ มีลูกยากเพราะคุณผู้ชายหรือเปล่า

4 นาทีในการอ่าน
ตรวจคุณภาพอสุจิ มีลูกยากเพราะคุณผู้ชายหรือเปล่า

แชร์

บางครั้งปัญหาการมีบุตรยากไม่ได้มาจากฝ่ายหญิงเสมอไป เพราะฉะนั้นในการเตรียมความพร้อมเพื่อมีเจ้าตัวเล็ก การตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อหรือน้ำอสุจิ (Semen Analysis) ของฝ่ายชายช่วยให้สามารถตรวจสอบคุณภาพและปริมาณตัวอสุจิ เพื่อนำไปวินิจฉัยและวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


รู้จักน้ำอสุจิ

“น้ำเชื้อ” หรือ “น้ำอสุจิ” (Semen) ประกอบด้วยตัวอสุจิและน้ำหล่อเลี้ยงต่าง ๆ เป็นของเหลวที่มีลักษณะสีขาวข้น โดยจะหลั่งออกมาจากคุณผู้ชายเมื่อถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ หรือจากวิธีช่วยตัวเอง หรือขับมาตามธรรมชาติที่เรียกว่า ฝันเปียก (Wet Dream) โดยในการหลั่งน้ำอสุจิแต่ละครั้งจะหลั่งออกมาประมาณ 3 – 4 มิลลิลิตร และมีจำนวนอสุจิเฉลี่ยประมาณ 300 – 500 ล้านตัว


ประโยชน์ของการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

การตรวจภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชายด้วยการตรวจน้ำอสุจิเพื่อประเมินคุณภาพของน้ำอสุจิที่จะส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ มีปัจจัยสำคัญดังนี้

  1. ความผิดปกติของจำนวนตัวอสุจิ อาจเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตัน อัณฑะไม่มีการสร้างตัวอสุจิ หรือสร้างน้อยกว่าปกติ
  2. ตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี ส่งผลให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้
  3. รูปร่างอสุจิ ตัวอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติจะส่งผลเสียต่อการปฏิสนธิกับไข่ได้

ควรตรวจน้ำอสุจิเมื่อไร

เนื่องจากประชากรเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่จะมีปัญหามีบุตรยาก การตรวจน้ำอสุจิจึงมักจะแนะนำให้ทำเมื่อเข้าเกณฑ์ของภาวะมีบุตรยาก อย่างไรก็ตามบางท่านอาจต้องการตรวจเร็วกว่านั้น ข้อมูลเพื่อร่วมพิจารณาในกรณีที่ต้องการตรวจเร็วขึ้น ได้แก่

  • มีภาวะหรือโรคประจำตัวที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพตัวอสุจิ เช่น การสูบบุหรี่ โรคตับ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
  • น้ำอสุจิจะเริ่มมีคุณภาพลดลงเพียงเล็กน้อยหลังอายุ 30 ปี แต่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนว่าทำให้อัตราการตั้งครรภ์จากการรักษาภาวะมีบุตรยากแย่ลงในช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป
  • ภรรยาอายุมากกว่า 37 ปี ต้องการทราบข้อมูลน้ำอสุจิเพื่อใช้วางแผนการมีบุตรได้เร็วและดีขึ้น

วิธีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิเป็นวิธีการทดสอบหาปริมาณและคุณลักษณะของน้ำอสุจิ และหาจำนวน การเคลื่อนไหว และความผิดปกติทางรูปร่างของตัวอสุจิตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO Criteria) ในเกณฑ์ล่าสุดปี ค.ศ. 2010

  1. การตรวจดูด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) เพื่อตรวจดูลักษณะทั่วไป โดยดูสี ความขุ่นใส และการละลายตัว ดูปริมาตรของน้ำอสุจิ ความหนืด ความเป็นกรดด่างของน้ำอสุจิ
  2. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) เพื่อตรวจจำนวนตัวอสุจิ อัตราการเคลื่อนไหว อัตราการมีชีวิตของอสุจิ เปอร์เซ็นต์ของตัวอสุจิที่มีรูปร่างปกติ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง

เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

เนื่องด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการทางด้านการแพทย์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุและความผิดปกติของอสุจิ ในขณะที่การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ในรูปแบบเดิมจะมีค่าเบี่ยงเบนของผลตรวจค่อนข้างมากโดยแปรผันตามผู้ตรวจที่มีความชำนาญในระดับที่ต่างกัน

ตรวจคุณภาพอสุจิ มีลูกยากเพราะคุณผู้ชายหรือเปล่า

การตรวจตัวอสุจิด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer Assisted Sperm Analysis: CASA) สามารถวิเคราะห์คุณภาพของอสุจิเหมือนการตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ โดยเป็นการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ แต่จะมีอุปกรณ์ที่มีความชัดเจนสูงในการจับภาพตัวอสุจิ โดยเฉพาะการวัดการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิและรูปร่างของตัวอสุจิ ทำให้ผลตรวจวิเคราะห์เชื้ออสุจิมีความถูกต้องยิ่งขึ้น ลดความเบี่ยงเบนจากการตรวจโดยบุคลากรเพียงอย่างเดียว


การแปลผลตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

การจะทราบว่าผลการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจินั้นปกติหรือไม่ องค์การอนามัยโลก (WHO criteria 2010) ได้กำหนดเกณฑ์ของการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิไว้ ดังนี้

  1. ปริมาณของน้ำอสุจิ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ 1.5 มิลลิลิตร (> 1.5 ml.)
  2. ความเข้มข้นของตัวอสุจิ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ 15 ล้านตัว / มิลลิลิตร (> 15 M/ml.)
  3. การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ ร้อยละ 40  (> 40%)
  4. รูปร่างอสุจิ / ตัวอสุจิที่ปกติ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ ร้อยละ 4 (> 4%)

ข้อปฏิบัติในการเก็บน้ำอสุจิ

  • ก่อนวันตรวจน้ำอสุจิควรงดการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการหลั่งอสุจิด้วยวิธีการใด ๆ ประมาณ 3 – 7 วัน
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนการเก็บเชื้ออสุจิ
  • เก็บเชื้ออสุจิด้วยตนเองใส่ภาชนะพิเศษที่สะอาดปราศจากเชื้อ
  • เมื่อเก็บเชื้ออสุจิได้แล้ว ปิดฝาภาชนะให้สนิท และนำส่งห้องปฏิบัติการทันที
  • ไม่แนะนำเก็บเชื้ออสุจิโดยใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยมีน้ำยาหล่อลื่นที่สามารถทำลายตัวอสุจิได้
  • หลังจากเก็บน้ำอสุจิได้แล้วให้นำส่งไปยังทางห้องปฏิบัติการทันที หรือภายใน 1 ชั่วโมง

ตรวจคุณภาพอสุจิ มีลูกยากเพราะคุณผู้ชายหรือเปล่า
ข้อจำกัดในการเก็บน้ำอสุจิ

  • กรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถเก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเองได้ให้ใช้วิธีมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา แล้วหลั่งเชื้ออสุจิออกมาภายนอกใส่ลงในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้ วิธีนี้อาจเก็บเชื้ออสุจิได้ไม่ทั้งหมด และทำให้คุณภาพลดลง
  • กรณีที่ฝ่ายชายไม่สะดวกเก็บน้ำอสุจิที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการแนะนำให้เก็บเชื้ออสุจิที่บ้าน กรณีที่นำภาชนะไปเก็บเชื้ออสุจิที่บ้าน ให้นำเชื้ออสุจิส่งไปยังห้องปฏิบัติการ ภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่เก็บได้ (ห้ามนำเชื้ออสุจิใส่ภาชนะที่บรรจุความเย็นหรือแช่แข็งโดยเด็ดขาด)


หลังจากเก็บน้ำอสุจิเรียบร้อย ทางห้องปฏิบัติการใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง โดยสามารถรอฟังผลได้ภายในวันนั้น หากไม่สะดวกแพทย์จะโทรแจ้งผลให้ทราบ นอกจากนี้หาก
มีข้อบ่งชี้ต้องกลับมาตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิซ้ำ แนะนำให้เว้นระยะการตรวจเป็นเวลา 90 วัน เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องชัดเจน เนื่องจากกระบวนการสร้างตัวอสุจิจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการสร้างจากเซลล์ตั้งต้นจนกระทั่งพร้อมลำเลียงผ่านท่อนำอสุจิ


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

แชร์