ผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น ลดเลือนรอยแผลไม่ให้กวนใจ

3 นาทีในการอ่าน
ผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น ลดเลือนรอยแผลไม่ให้กวนใจ

แชร์

ปัญหาแผลเป็นไม่ว่าเมื่อไรก็กวนใจ ยิ่งถ้าเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ มีความหนาและนูนในบริเวณที่เห็นได้ชัดอาจทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต การผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น (Scar Revision) จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการลดเลือนรอยแผลเป็น คืนความมั่นใจให้กลับมาอีกครั้ง


รู้จักแผลเป็น

แผลเป็น คือ รอยที่เหลือหลังจากบาดแผลหายสนิท หากแผลเป็นอยู่ในแนวเดียวกับรอยย่นผิวหนัง แผลเป็นจะไม่ชัด เพราะซ่อนไปในแนวผิวหนัง ดังนั้นแผลเป็นจากอุบัติเหตุจึงมักชัดเจนกว่าแผลจากการผ่าตัด 


ลักษณะแผลเป็น

แผลเป็นที่มีปัญหาแยกได้ตามลักษณะ ได้แก่

  1. ปัญหาแผลนูนมักเกิดจาก 2 ภาวะ คือ 
    • แผลคีลอยด์ (Keloid) เป็นแผลที่นูนออกนอกขอบเขตของแผลเดิมมาก มีอาการคัน มักเกิดบริเวณหน้าอกจากการผ่าตัดหัวใจ จากการเป็นสิวที่ร่องอก บริเวณหัวไหล่จากการปลูกฝี ติ่งหูหลังการเจาะหู หรือเป็นที่อื่น ๆ และปัจจัยทางพันธุกรรมเสริม
    • แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายเพื่อให้แผลหาย แผลเป็นอยู่ในขอบเขตของแผลเดิม
  2. แผลเป็นหลุม
  3. แผลยืดกว้างจากรอยเย็บเดิม
  4. แผลที่มีการดึงรั้ง (Scar Contracture) โดยเฉพาะเมื่อแผลเชื่อมโยงระหว่างข้อต่อ
  5. แผลที่มีความตึง

วิธีการรักษาแผลเป็น

การรักษาแผลเป็นมีหลายวิธี ได้แก่ 

  1. การฉีดยารักษาแผลเป็น เป็นการฉีดสเตียรอยด์เข้าในก้อนแผลเป็น เพื่อให้ก้อนนิ่มลง ลดขนาด ลดอาการคัน และลดความนูนของแผล โดยปกติจะฉีดห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ โดยทั่วไปจะต้องฉีดต่อเนื่องจนกว่าก้อนยุบลง เนื่องจากถ้าหยุดฉีดแล้วมักเกิดแผลเป็นใหม่ได้ จึงต้องนัดติดตามอาการต่อทุก 2 – 3 เดือน ปัญหาที่พบบ่อยหลังการฉีดคือ ผิวหนังบางไขมันยุบ ซึ่งแก้ไขได้ยาก การฉีดต้องใช้ความระมัดระวังด้านปริมาณของยาและตำแหน่งเข็ม การตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยส่วนบุคคลจึงควรฉีดโดยแพทย์เฉพาะทาง 
  2. การใช้เลเซอร์ (Vbeam หรือ Pulsed Dye Laser Treatment) เพื่อลดอาการแดง และลดเส้นเลือดบริเวณที่ฉีดยา
  3. การผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น (Scar Revision) มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    1. ตัดแผลเป็นทั้งหมดออก แล้วทำการเย็บใหม่ ซึ่งแผลใหม่ที่เย็บจะเป็นเส้นไม่มีขาตะขาบ
    2. ตัดบางส่วนของแผลที่มีปัญหาออกแล้วทำการเย็บบริเวณดังกล่าว และเมื่อแผลหายดีแล้วจึงทำการตัดส่วนที่เหลือของแผลเป็นออกอีกครั้งจนหมด หรือรักษาส่วนที่เหลือด้วยการฉีดสเตียรอยด์ มักใช้ในแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถตัดครั้งเดียวได้หมด
    3. แผลที่อยู่ตำแหน่งตึงจะต้องเปลี่ยนทิศทางการเย็บใหม่เพื่อให้แผลลดความตึงตัว

ความเสี่ยงและผลข้างเคียง

  • ความเสี่ยงทั่วไป
    • ปวดแผล แต่สามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยการรับประทานยาแก้ปวด
  • ความเสี่ยงเฉพาะ 
    • แผลอาจจะหายแล้วพบว่ากว้างขึ้นหรือนูนขึ้นอีกได้ โดยทั่วไปถ้าหากแก้ไขโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางแล้วโอกาสหายจะดีกว่า เพราะมีวิธีการเย็บปิดแผลโดยลดความตึงและอาจจะเปลี่ยนทิศทางให้ความตึงของแผลน้อยลง

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น

  1. แจ้งแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ โรคร้ายแรง โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัดและการได้รับยาระงับความรู้สึก ฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟัน รวมถึงการแพ้ยา แพ้อาหาร หรืออื่น ๆ
  2. ในกรณีที่มีภาวะเสี่ยงหรือโรคประจำตัวจะได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย เช่น การเอกซเรย์ การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดและการวางยาสลบ
  3. งดใช้ยา ยาบำรุง สมุนไพรบางชนิดที่อาจมีผลต่อการผ่าตัด เช่น ยาแก้ปวด, แอสไพริน, วิตามินดี, วิตามินซี และน้ำมันตับปลา เป็นต้น ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน และนำยาประจำตัวและยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่รับประทานมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งแพทย์ในวันผ่าตัด
  4. งดสูบบุหรี่ก่อนการผ่าตัดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ป้องกันภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายได้ หากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าสูบบุหรี่จัด และควรงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 – 2 สัปดาห์
  5. หยุดดื่มสุราภายใน 24 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ควรหยุดดื่มสุราหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  6. อาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาด ห้ามใช้เครื่องสำอาง
  7. งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการสูดสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารจากกระเพาะเข้าไปสู่ปอดระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก การฟื้นตัวจากการให้ยาระงับความรู้สึก

ผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น ลดเลือนรอยแผลไม่ให้กวนใจ

ดูแลหลังผ่าตัดแก้ไขแผลเป็น

  1. เลี่ยงไม่ให้แผลถูกแดด หลังตัดไหม 1 เดือน หรือใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 50 ทาบริเวณแผล
  2. ในบางตำแหน่งที่มีการขยับเขยื้อนมาก เช่น บริเวณรอบปาก อาจใช้พลาสเตอร์ปิดยึดบริเวณแผลไม่ให้แผลยืดออก
  3. หากแผลผ่าตัดมีอาการบวม แดง ร้อน ให้มาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ
  4. ระยะเวลาตัดไหมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ บริเวณใบหน้า 5 วัน แขน ลำตัว และขา 7 – 10 วัน


ในการรักษาแผลเป็นอาจต้องใช้การผสมผสานวิธีการรักษาประมาณ 2 – 3 ชนิดเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด เนื่องจากโดยทั่วไปไม่มีวิธีการรักษาแผลเป็นใดที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการผ่าตัดแก้ไขแผลเป็นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพื่อให้รักษาได้อย่างเหมาะสมและผลลัพธ์การรักษาเป็นที่น่าพอใจ


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์