ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารผ่านลมหายใจ

2 นาทีในการอ่าน
ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารผ่านลมหายใจ

แชร์

เชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร Helicobacter Pylori (H. Pylori) อันตรายต่อกระเพาะอาหารอย่างมาก เพราะเป็นตัวการสำคัญของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ไปจนถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ในกระเพาะอาหารผ่านทางลมหายใจ (C-13 UBT) จึงเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญ เพราะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องชัดเจน

รู้จักการตรวจหาเชื้อ H. Pylori

การตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori (H. Pylori) มีหลายวิธี ได้แก่ การตรวจทางลมหายใจ การตรวจ Urease Test จากชิ้นเนื้อ Biopsy ที่ได้จากการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) หรือการตรวจ Histology ซึ่งต้องอาศัยการย้อมพิเศษ เป็นต้น


ตรวจหาเชื้อ H. Pylori ผ่านลมหายใจ

การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. Pylori) ในกระเพาะอาหารผ่านทางลมหายใจ หรือ The Carbon-13 Urea Breath Test (C-13 UBT) เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดพยาธิสภาพในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยเชื้อ H. Pylori เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งการตรวจสามารถทำได้โดยวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (13 CO2) ที่เกิดจากปฏิกิริยาของเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ที่มีเอนไซม์ Urease เข้าสู่กระแสเลือด ถูกขับมาที่ปอด และขับออกสู่ภายนอกโดยลมหายใจ


ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารผ่านลมหายใจ

ขั้นตอนการตรวจ C-13 UBT

  1. เป่าลมหายใจลงในถุงตัวอย่าง
  2. กลืนเม็ดยาพร้อมดื่มน้ำ
  3. หลังกลืนเม็ดยาให้นอนตะแคงด้านซ้าย
  4. เปลี่ยนเป็นท่านั่ง 15 นาที
  5. เป่าลมหายใจลงในถุงตัวอย่างใบที่ 2 จนเต็ม 
  6. เมื่อเรียบร้อยนำส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อวิเคราะห์ผลการตรวจต่อไป

ข้อดีของการตรวจ C-13 UBT

  • ประเมินการเจริญและการแพร่ของแบคทีเรียในกระเพาะอาหารได้
  • ติดตามผลการรักษาได้แม่นยำ
  • ไม่มีความเจ็บปวดและไม่ใช้สารรังสี
  • ปลอดภัยต่อเด็กและสตรีมีครรภ์

เตรียมตัวก่อนตรวจ C-13 UBT

  1. งดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ หรือหลังเที่ยงคืน เพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง
  2. งดอาหารที่มีสารยูเรีย ได้แก่ น้ำอ้อย สับปะรด ข้าวโพด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบจากแป้งข้าวโพด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 12 ชั่วโมง
  3. งดยาปฏิชีวนะ (Antibiotic), ยากลุ่มบิทมัส (Bismuth) อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม PPI (Proton Pump Inhibition) อย่างน้อย 14 วัน ได้แก่ ยา Nexium, Pariet, Controloc, Prevacid, Miracid เป็นต้น
  4. กรุณามาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัดหมาย 30 นาที 
  5. หลังเสร็จสิ้นการตรวจตรวจหาเชื้อแบคทีเรียจากลมหายใจในกระเพาะอาหาร (C-13 Urea Breath Test) ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและยาได้ตามปกติ และรอฟังผลการตรวจได้ทันที
  6. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่น, ท้องอืด, ท้องเสีย, รู้สึกไม่สบายบริเวณลิ้นปี่ หรือคลื่นไส้ ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที


โรคแผลในกระเพาะอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori สามารถรักษาและมีโอกาสหายขาดได้จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.
พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แชร์