ตรวจเช็กให้ดีทำไมถึงมีลูกยาก

3 นาทีในการอ่าน
ตรวจเช็กให้ดีทำไมถึงมีลูกยาก

แชร์

ต้นเหตุมีบุตรยาก

สาเหตุของภาวะมีลูกยากที่พบบ่อย ได้แก่

  1. น้ำอสุจิของฝ่ายชาย พบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของคู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก 
  2. ภาวะไม่ตกไข่ พบได้ประมาณร้อยละ 15
  3. ท่อนำไข่อุดตัน
  4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  5. โรคทางนรีเวชอื่น ๆ เช่น เนื้องอกมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก หรือมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น 
  6. ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบได้ประมาณร้อยละ 10

***โดยจะพบข้อ 3 – 5 รวมกันได้ประมาณ 1 ใน 3 ของคู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีลูกยาก


ตรวจเช็กภาวะมีบุตรยาก

สำหรับภาวะมีบุตรยากในการมาพบแพทย์เพื่อเริ่มตรวจหาสาเหตุนั้น แพทย์จะเริ่มซักประวัติเบื้องต้นทั่ว ๆ ไป เช่น การคุมกำเนิดที่เคยใช้ ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติประจำเดือน (ซึ่งจะช่วยบอกว่าฝ่ายหญิงนั้นมีปัญหาไข่ไม่ตกหรือไม่) ประวัติการผ่าตัด โรคประจำตัว และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงประวัติทางฝ่ายชายที่อาจช่วยบอกถึงคุณภาพของน้ำอสุจิ ได้แก่ ประวัติการเป็นคางทูม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น จากการซักประวัติเบื้องต้นจะเป็นแนวทางที่ดีในการสืบค้นหาสาเหตุต่อไป การจดหรือจำประจำเดือนประมาณ 3 – 6 เดือนก่อนพบแพทย์จะช่วยในการตรวจรักษาที่ดีขึ้น จากนั้นจะเป็นการตรวจเลือดทั่วไป ได้แก่ การตรวจเอดส์ ซิฟิลิส และตับอักเสบบี ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจตรวจหาพาหะโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในคู่สมรสที่สงสัยว่าอาจเป็นพาหะ การตรวจทั้งหมดนี้แนะนำตรวจพร้อมกันทั้งสามีและภรรยา


การตรวจหาสาเหตุนั้นจะแยกอธิบายเป็นการตรวจทางฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ได้แก่
  • ผู้ชาย
           ทางฝ่ายชายนั้นการตรวจน้ำอสุจิเป็นการตรวจขั้นแรก โดยผลการตรวจจะรายงานสภาพทั่วไปของน้ำอสุจิ จำนวนและความเข้มข้นของตัวอสุจิ รวมทั้งการเคลื่อนไหวและรูปร่างของตัวอสุจิ และเพื่อผลการตรวจที่ดีและเชื่อถือได้ ฝ่ายชายควรงดการหลั่งน้ำอสุจิก่อนการตรวจประมาณ 3 – 7 วัน แต่ถ้างดการหลั่งน้ำอสุจิมากกว่า 7 วัน ผลการตรวจอาจพบจำนวนตัวอสุจิที่เสียชีวิตมากกว่าปกติได้ และถ้าผลการตรวจน้ำอสุจิผิดปกติแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะโดยทั่วไป ลักษณะของอัณฑะและเส้นเลือดขอดบริเวณถุงอัณฑะ หรืออาจต้องตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม

  • ผู้หญิง

           ทางฝ่ายหญิงจะมีการตรวจภายในและเช็กมะเร็งปากมดลูกเป็นเบื้องต้น และมักจะตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจภายในเพียงอย่างเดียว ได้แก่ เนื้องอกขนาดเล็กในโพรงมดลูก หรือภาวะถุงน้ำรังไข่ (PCOS) เป็นต้น ส่วนการตรวจว่าท่อนำไข่มีการอุดตันหรือไม่ ต้องใช้การตรวจด้วยวิธีฉีดสีเอกซเรย์ดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography)

           ขั้นตอนการทำจะคล้ายการตรวจภายในเพื่อเช็กมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะใช้ท่อเล็ก ๆ สอดเข้าไปทางรูปากมดลูก แล้วฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในโพรงมดลูก พร้อมกับถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ในขณะที่สารทึบรังสีไหลผ่านท่อนำไข่จนผ่านปลายท่อออกไปถึงอุ้งเชิงกราน สามารถดูได้ทั้งลักษณะของท่อนำไข่และโพรงมดลูก การตรวจวิธีนี้มักแนะนำให้ทำในรายที่มีประวัติสงสัยว่าจะมีปัญหาของท่อนำไข่ เช่น เคยเป็นมดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบ เคยตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือสงสัยว่าเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น แต่อาจพิจารณายกเว้นการตรวจนี้ได้ในรายที่อายุน้อยและไม่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมา

           การตรวจนี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยระหว่างและหลังการตรวจได้ แต่มากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล แพทย์มักให้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานก่อนทำการตรวจ แต่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจแพทย์จะไม่ได้ทำให้ผู้รับการตรวจหลับหรือระงับความรู้สึกแต่อย่างใด และช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจด้วยวิธีนี้คือ 2 – 5 วันหลังหมดประจำเดือน แต่ไม่เกิน 10 – 12 วัน นับจากการมีประจำเดือนวันแรก



ผลการตรวจเบื้องต้นทั้งหมดของทั้งฝ่ายชายและหญิงดังกล่าวจะสามารถช่วยบอกสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสได้เป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) แต่อย่างไรก็ตามจะยังมีคู่สมรสอีกประมาณร้อยละ 10 – 20 ที่ผลการตรวจเป็นปกติทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถบอกสาเหตุที่ชัดเจนได้ สำหรับแนวทางการรักษาในขั้นต่อไปก็จะเป็นไปตามสาเหตุนั้น ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

แชร์