เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear)

4 นาทีในการอ่าน
เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear)

แชร์

ภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดเป็นปัญหาที่พบบ่อย ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดและไม่สามารถใช้งานไหล่ได้อย่างปกติ ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหาภาวะเส้นเอ็นในไหล่ประมาณ 2,000,000 คนต่อปี เมื่อมีเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดจะทำให้มีภาวะอ่อนแรงลงของข้อไหล่ ผู้ป่วยจะใช้งานไหล่ในชีวิตประจำวันได้ลดลง เช่น การหวีผม การใส่เสื้อ ก็จะมีอาการเจ็บหรือจะทำได้ยากขึ้น

รู้จักข้อไหล่

ข้อไหล่ประกอบขึ้นจากกระดูก 3 ส่วน คือ
  1. กระดูกท่อนแขนด้านบน (Humerus)
  2. กระดูกสะบัก (Scapular)
  3. กระดูกไหปลาร้า (Clavicle)

photo

ข้อไหล่ (ห้วกระดูกและเบ้า) จะอยู่ด้วยกันได้ด้วยตัวเยื่อหุ้มข้อ (Capsule) และเส้นเอ็นไหล่ (Rotator Cuff) ตัวเส้นเอ็น Rotator Cuff ประกอบขึ้นจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น 4 มัดมาประกอบกันเป็นแผงโอบหุ้มข้อไหล่ ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงกับข้อไหล่และเป็นแกนหมุนและยกหัวไหล่ นอกจากนี้ยังมีถุง (ฺBursa) ซึ่งให้ความหล่อลื่นและป้องกันการเสียดสีของเส้นเอ็น Rotator Cuff กับกระดูกส่วนบนของไหล่ (Acromion) เมื่อมีการอักเสบของเส้นเอ็นหรือมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น Rotator Cuff ตัวถุง (Bursa) นี้ก็จะมีภาวะอักเสบและมีอาการเจ็บเกิดขึ้นด้วย

photo

ภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

เมื่อมีเส้นเอ็นฉีกขาดส่วนใหญ่จะฉีกขาดบริเวณตำแหน่งที่เส้นเอ็นเกาะกับกระดูกส่วนหัว (Humerus) ซึ่งอาจฉีกเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้ การฉีกขาดอาจเริ่มจากการถลอกบริเวณด้านบนของเส้นเอ็น (ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของหินปูนบริเวณกระดูกด้านบน (Acromion) กับตัวเส้นเอ็น หรืออาจเกิดจากภาวะเสื่อม (Degeneration) ของตัวเส้นเอ็นเอง หรือเกิดจากการใช้งานหรืออุบัติเหตุ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเส้นเอ็น Rotator Cuff ฉีกขาด ช่วงแรกอาจเป็นฉีกบางส่วนแล้วเป็นมากขึ้นจนฉีกขาดตลอดความหนาของเส้นเอ็น จึงนิยมแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้

แบ่งตามลักษณะของการฉีกขาด

  1. เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน (Partial Rotator Cuff Tear)
  2. เส้นเอ็นฉีกขาดตลอดความหนา (Full Thickness Rotator Cuff Tear)
  3. เส้นเอ็นฉีกขาดขนาดใหญ่ (Massive Rotator Cuff Tear) ซึ่งมักจะมีการหดรั้งของตัวกล้ามเนื้อและปลายเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไปไกลจากตำแหน่งเกาะเดิม

photo

แบ่งตามสาเหตุ

แบ่งเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ

  1. จากอุบัติเหตุ เช่น ล้มลงขณะที่แขนเหยียดเท้าพื้น หรือไหล่แขนกระแทกแล้วมีการหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างรุนแรง
  2. จากความเสื่อมของเส้นเอ็น (Degeneration) กลุ่มนี้พบได้บ่อยกว่า เกิดจากการใช้งานมานาน ๆ และอายุที่มากขึ้น ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เป็นได้มากขึ้นก็คือ

    • Repetitive Stress การใช้งานสะสมมาเป็นเวลานาน ๆ การใช้งานหนักหนรือผิดสุขลักษณะ กลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ เช่น นักเบสบองล นักยกน้ำหนัก
    • ภาวะเลือดไปเลี้ยงน้อยลง (Lack of Blood Supply) เมื่ออายุมากขึ้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณนี้มีน้อยลง ทำให้เมื่อมีการฉีกขาดการสมานตัวของเส้นเอ็นจึงเกิดขึ้นเองได้น้อย
    • หินปูนในข้อไหล่ (Bone Spur) จะเกิดขึ้นบริเวณใต้กระดูกส่วนบนของข้อไหล่ (Acromion) ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสีของหินปูนและเส้นเอ็น Rotator Cuff ทำให้มีการฉีกขาดตามมา ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า Impingement Syndrome

อาการเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยคือ

  1. ปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ
  2. ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางท่า
  3. อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่
  4. เสียงเสียดสีในขณะขยับบางท่าของไหล่


การฉีกขาดที่เกิดจากอุบัติเหตุ

การฉีกขาดที่เกิดจากอุบัติเหตุมักจะมีอาการเจ็บทันทีหลังอุบัติเหตุ หรือมีเสียงดังในไหล่ขณะเกิดอุบัติเหตุ และอาจมีอาการอ่อนแรงทันที

photo

การฉีกขาดที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นหรือภาวะหินปูนในข้อไหล่

การฉีกขาดที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นหรือภาวะหินปูนในข้อไหล่ อาการปวดจะค่อยเป็นค่อยไป ตอนแรกอาจปวดไม่มากหรือหายไปเอง ต่อมาอาการปวดอาตรุนแรงขึ้นหรือถี่ขึ้น มีความยากลำบากในการใช้งานมากขึ้นหรือไหล่ติดมากขึ้น และมีอาการปวดตอนนอนตะแคงมากขึ้น


ตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และ อาจทำเอกซเรย์ หรือ MRI (เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า) ซึ่งสามารถดูเส้นเอ็น Rotator Cuff ได้เป็นอย่างดี


รักษาภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

การรักษาภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น ลักษณะ และขนาดของเส้นเอ็นที่ฉีกขาด อาการปวดที่รุนแรงและรบกวนการใช้งานของไหล่ในชีวิตประจำวัน

1) การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

แรกเริ่มของการรักษา แพทย์จะให้ยารับประทานร่วมกับการทำกายภาพ ร่วมกับการพักไหล่และปรับปรุงการใช้งานของไหล่ ประมาณ 50% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่มีเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วนจะดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้งานไหล่ได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติ บางครั้งแพทย์อาจใช้วิธีฉีดยา (ยาสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เข้าไปที่ข้อไหล่ ถ้ารักษาโดยยารับประทาน และ/หรือกายภาพแล้วยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

photo

ข้อดีของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ เช่น ภาวะติดเชื้อ ภาวะไหล่ติด ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยในการผ่าตัดแบบส่องกล้องเย็บกรอหินปูนและเย็บซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่

ข้อเสียของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

ขนาดของเส้นเอ็นที่ฉีกขาดอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีการจำกัดการใช้งานในบางท่า กำลังของการใช้งานอาจลดลง

2) การรักษาโดยการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่เป็นมานานและไม่ดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังต้องใช้งานไหล่มาก หรือนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุและมีภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ปัจจุบันการผ่าตัดใช้วิธีส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ / หรือกรอหินปูน ผลการรักษาค่อนข้างดีมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถเริ่มกายภาพหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วคือหลังผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์