ฟื้นฟูร่างกายเพื่อผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษากลุ่มโรคทางช่องท้อง

2 นาทีในการอ่าน
ฟื้นฟูร่างกายเพื่อผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษากลุ่มโรคทางช่องท้อง

แชร์

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคทางช่องท้อง สิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ป่วยและญาติคาดหวังคือการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ การเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดและการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจหลังการผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันหรือช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ช่วยให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นไปตามแผนการรักษาที่กำหนดและกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

โปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการวางแผนการเตรียมตัวที่เหมาะสม เพื่อให้มีความพร้อมในการผ่าตัดมากที่สุดทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยโปรแกรมก่อนการผ่าตัดจะเน้นป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยคือ การฝึกหายใจอย่างถูกวิธี เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอดและระบบหายใจ วิธีการฝึกที่ทำให้เกิดผลดีที่สุดคือ การหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมร่วมกับการหายใจออกห่อปาก เนื่องจากเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยออกแรงในการหายใจน้อยที่สุดแต่ได้ประสิทธิภาพในการหายใจที่ดี โดยผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้โดยการสูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ ช้า ๆ และสังเกตที่ท้องให้ท้องป่องขึ้นขณะหายใจเข้าเพื่อให้เกิดขยายตัวของปอดมากที่สุด จากนั้นผ่อนลมหายใจออกทางปากพร้อมกับห่อปาก ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ แล้วทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง

ข้อควรระวัง : ในขณะที่ฝึกผู้ป่วยจะต้องไม่เบ่งหรือกลั้นหายใจ


โปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด

ภายหลังการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ผู้ป่วยควรเริ่มฝึกการหายใจด้วยตัวเองให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ นอกจากนั้นควรเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายและลุกนั่ง ยืน เดินให้ได้เร็วที่สุดเพื่อช่วยส่งเสริมให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้ฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องดังต่อไปนี้

  1. การฝึกหายใจอย่างถูกวิธีเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอดและระบบหายใจ โดยผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
  2. การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวตัวบนเตียง เริ่มออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ สู่การทำกิจกรรมที่หนักขึ้น เช่น การยืน การเดิน โดยเฉพาะการออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาและข้อเท้าด้วยการกระดกเท้าขึ้นลง จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ขา ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ
  3. การลุกจากเตียงอย่างถูกวิธี เมื่อแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยเริ่มลุกนั่งข้างเตียงหรือเดินได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องฝึกการลุกนั่งอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนและลดอาการปวดแผลผ่าตัด แผลสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรลุกนั่งด้วยวิธีที่ถูกต้อง
  4. การเตรียมตัวเพื่อกลับบ้าน เมื่อแพทย์เจ้าของไข้อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมดูแลผู้ป่วยในการดูแลตัวเองที่บ้าน เช่น การกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน การเลือกรับประทานอาหาร หรือการวางแผนในการกลับไปทำงานประจำ ฯลฯ


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์