รู้หรือไม่ ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ 9 ขวบ

2 นาทีในการอ่าน
รู้หรือไม่ ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ 9 ขวบ

แชร์

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และจากสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยหน้าใหม่ถึง 6,400 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 3,000 รายต่อปี โดยสาเหตุหลักที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus Infection) สายพันธุ์ชนิด 16 และ 18 ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยทราบว่าไวรัสทั้งสองชนิดนี้สามารถป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 70 เพียงฉีดวัคซีนลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก HPV ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

photo21

ไวรัส HPV ร้ายกว่าที่คิด

ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์ชนิด 16 และ 18 ผ่านทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ดังนั้นผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วจึงนับว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส HPV โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดจาก

  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ไม่สวมถุงยางอนามัย
  • สูบบุหรี่
  • อื่น ๆ

photo23

คู่นอนคนเดียวคนเดิมก็ติดเชื้อ HPV ได้

ผู้หญิงหลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่า แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับสามีเพียงคนเดียวมาตลอดก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน หากฝ่ายชายมีเชื้อ HPV อยู่ ที่สำคัญผู้หญิงมักชะล่าใจกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะคิดว่าตนเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อีกทั้งอายหรือกลัวที่จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำให้แนวโน้มการเกิดมะเร็งปากมดลูกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

photo24

ทำความเข้าใจวัคซีน HPV ให้ถูกต้อง

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ผลิตจากชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อไวรัสซึ่งไม่ก่อโรค แต่มีประสิทธิภาพช่วยสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัส HPV โดยปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากกว่าร้อยละ 70
  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil) ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าร้อยละ 70 และป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ถึงร้อยละ 90 

photo26

วัคซีน HPV ยิ่งฉีดแต่เด็ก ยิ่งประสิทธิภาพสูง

การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV สามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ โดยควรฉีดในเด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 14 ปี เพราะเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีน HPV เนื่องจากมีผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า เด็กผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยดังกล่าวมีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันดีกว่าช่วงอายุอื่น ๆ และเป็นวัยที่ยังไม่เคยมีกิจกรรมทางเพศมาก่อน

อีกทั้งโดยปกติแล้วการฉีดวัคซีน HPV สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อเริ่มฉีดเข็มแรก หลังจากนั้นอีก 2 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 2 และครบ 6 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง ได้ผลดีไม่เท่ากับผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุ 9 – 14 ปี ซึ่งจะฉีดเพียง 2 ครั้งเท่านั้นคือ เดือนแรกและอีก 6 เดือนถัดมา ผลการวิจัยพบว่าภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดีมากเท่ากับการฉีดวัคซีน 3 ครั้ง นั่นคือ จำนวนเข็มน้อยกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า และป้องกันไวรัส HPV ได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน HPV ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน เพราะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ HPV สู่ผู้หญิงได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ในเพศชายและโรคมะเร็งทวารหนักด้วย


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แชร์