ถาม - ตอบข้อสงสัยเรื่องริดสีดวง

2 นาทีในการอ่าน
ถาม - ตอบข้อสงสัยเรื่องริดสีดวง

แชร์

ริดสีดวงเป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัยและเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุจึงไม่แปลกที่จะเต็มไปด้วยข้อสงสัย ซึ่งควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องจะได้รับมืออย่างถูกวิธี


ถาม
: ริดสีดวงคืออะไร

ตอบ : ริดสีดวงทวารหนักคือกลุ่มหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุทวารหนักโป่งพอง ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยอาการที่พบมีหลากหลาย ที่พบบ่อยคือ ปวดบริเวณทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสด มีก้อนยื่นหรือคลำได้ก้อนที่ทวารหนัก เป็นต้น


ถาม : สาเหตุของริดสีดวงเกิดจากอะไร

ตอบ : ริดสีดวงเกิดจากภาวะที่ต้องออกแรงเบ่งมาก อาทิ ท้องผูก ถ่าย 2 – 3 วันครั้ง แต่ละครั้งนั่งถ่ายนานไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง เมื่อไปโดนริดสีดวงจึงค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นจนย้วยลงมาถึงปากทวารหนัก นอกจากนี้การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านการ์ตูนขณะถ่ายอุจจาระจะมีการเบ่งเป็นช่วง ๆ โดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ริดสีดวงค่อย ๆ โตขึ้นได้เช่นกัน


ถาม : ทำไมหญิงตั้งครรภ์ถึงเป็นริดสีดวงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ตอบ : เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงและระบบไหลเวียนเลือดเปลี่ยนไปส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณริดสีดวงมากขึ้น ริดสีดวงทวารจึงพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรระยะแรก จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์นอนตะแคงด้านซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น 


ถาม : การตรวจวินิจฉัยริดสีดวงทำอย่างไร

ตอบ : แพทย์จะทำการตรวจทวารหนักอย่างละเอียด เริ่มจากการสวมถุงมือแล้วใช้เจลช่วยหล่อลื่น จากนั้นจะใช้นิ้วคลำด้านในทวารหนักของผู้ป่วยว่ามีก้อนหรือไม่เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ หรืออาจให้ผู้ป่วยเบ่งเหมือนจะถ่ายเพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดเปิดออก จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะเป็นกล้องสั้น ที่หล่อลื่นด้วยเจลค่อย ๆ สอดเข้าไปในทวารหนักแล้วส่องไฟ เพื่อให้ตรวจประเมินวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน


ถาม : การรักษาริดสีดวงทำอย่างไร

ตอบ : การรักษาริดสีดวงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบในผู้ป่วยแต่ละคน หากผู้ป่วยท้องผูกจนเป็นริดสีดวง แพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร รับประทานอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์มากขึ้น แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย ยังมีวิธีการรักษาริดสีดวงอย่างการฉีดยาบริเวณที่เป็นริดสีดวง, การรัดยางที่ริดสีดวง, การใช้เลเซอร์จี้ริดสีดวง, การใช้ PPH (Procedure for prolapse and hemorrhoids) เครื่องมือรักษาริดสีดวงอัตโนมัติ, การผ่าตัดริดสีดวง เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาโดยขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ 

ถาม - ตอบข้อสงสัยเรื่องริดสีดวง


ถาม : ถ้าไม่ใช่ริดสีดวงแต่เป็นมะเร็งลำไส้ตรงสังเกตได้อย่างไร

ตอบ : หากถ่ายเป็นเลือดร่วมกับอุจจาระผิดปกติอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ตรง แพทย์จะทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และตัดชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อนำไปตรวจเช็กมะเร็ง การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาดของมะเร็ง ระยะมะเร็ง และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย


ถาม : มะเร็งลำไส้ใหญ่ควรตรวจคัดกรองเมื่อไร

ตอบ : มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในร่างกาย จึงควรตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 45 – 50 ปีเป็นต้นไปแม้ไม่มีอาการ แต่หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรมาตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้น เพราะหากพบความผิดปกติจะได้รักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็ว ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

อย่างไรก็ตามการสังเกตความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระและมาพบแพทย์โดยเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยิ่งรักษาอย่างถูกวิธีได้เร็วยิ่งเพิ่มโอกาสหายขาดและลดความรุนแรงของโรคได้ 


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคาร D ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์