โรคสะเก็ดเงิน

2 นาทีในการอ่าน
โรคสะเก็ดเงิน

แชร์

รู้จักโรคสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เกิดจากการปรวนแปรของภูมิคุ้มกันของร่างกาย และไปกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง โดยมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมและสิ่งกระตุ้นจากภายนอก พบได้บ่อยในช่วงอายุ 20 ปี และ 40 ปีขึ้นไป โดยพบได้ประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากรทุกเชื้อชาติ ทั้งเพศหญิงและเพศชายพบได้เท่ากัน

 

สาเหตุของโรค

โรคสะเก็ดเงินมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม สิ่งกระตุ้นภายนอก และนอกจากนี้ยังพบว่าโรคสะเก็ดเงินมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน

 

อาการ

  • มีผื่นหนาสีแดง ขอบชัดเจน คลุมด้วยขุยหนาขาวคล้ายสีเงิน ซึ่งสามารถขูดออกได้ง่าย และเมื่อขูดขุยหมดจะมีจุดเลือดออกบนรอยผื่น

  • ผื่นอาจเกิดบนรอยแผลถลอกหรือรอยแผลผ่าตัด 

  • ผื่นผิวหนังมักกระจายในบริเวณที่มีการเสียดสี อย่างศีรษะ ไรผม หลัง สะโพก ศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า  

  • เล็บ พบมีหลุม  เล็บร่อน ปลายเล็บหนา มีขุยใต้เล็บ หรือจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ

  • ข้อมีการอักเสบของข้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก เป็นข้อเดียวหรือหลายข้อ และอาจจะมีข้อพิการตามหลังการอักเสบเรื้อรัง

 

ลักษณะผื่น

พบได้หลายลักษณะ เช่น

  • ผื่นหนาเฉพาะที่หรือการกระจายในบริเวณที่มีการเสียดสี ศีรษะ ไรผม สะโพก ศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

  • ผื่นขนาดเล็กเท่าหยดน้ำ หรือเล็กกว่า 1 เซนติเมตร กระจายทั่วตัว พบบ่อยในเด็ก ตามหลังการเกิดไข้ 1 – 2 สัปดาห์

  • ผิวหนังแดงลอกทั่วตัว หรือผื่นชนิดตุ่มหนอง พบตุ่มหนองเล็ก ๆ ที่ปราศจากเชื้อโรค บนผื่นสีแดง อาจเป็นเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือกระจายทั่วตัว

  • ความผิดปกติของเล็บ เช่น เล็บล่อน ปลายเล็บหนามีขุยใต้เล็บ หรือจุดสีน้ำตาลที่เล็บ อาจพบการอักเสบของข้อ ซึ่งเป็นได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก เป็นข้อเดียวหรือหลายข้อ และอาจมีข้อพิการตามหลังการอักเสบเรื้อรัง

 

การรักษา

สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ มีสาเหตุที่จะทำให้โรคกำเริบขึ้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น เช่น การดื่มเหล้า ความเครียด เป็นต้น

 

วิธีการรักษามีหลายวิธี

  • ยาทา

  • น้ำมันดิน Dithranol  

  • สเตียรอยด์ Calciprotriol  ยารับประทาน 

  • ยาฉีด Biologic 

  • การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต


ข้อควรระวัง

ยารับประทานบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรใช้ในขณะที่เป็นมาก ยาบางขนานอาจทำให้โรคกำเริบ จึงควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานหรือทาเอง

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผิวหนังและความงาม
ชั้น 5 อาคารบางกอกพลาซ่า โรงพยาบาลกรุงเทพ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 8.00 - 17.00 น.

แชร์