ป้องกันไวรัสตับอักเสบ A, B ด้วยวัคซีนก่อนร้ายแรง

2 นาทีในการอ่าน
ป้องกันไวรัสตับอักเสบ A, B ด้วยวัคซีนก่อนร้ายแรง

แชร์

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่พบในคนไทยค่อนข้างมาก เป็นภาวะที่ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ A B C D และ E หากเป็นแล้วตับจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อทิ้งไว้จนเรื้อรังมีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งและร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งตับได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบก่อนลุกลามและรุนแรง


รู้จักไวรัสตับอักเสบ A

ไวรัสตับอักเสบชนิด A เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A (Hepatitis A Virus) สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส เมื่อเชื้อไวรัสผ่านผนังลำไส้เข้าสู่เส้นเลือดไปยังตับ ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน มีอาการอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ เบื่ออาหาร และดีซ่าน อาการเกิดหลังได้รับเชื้อราว 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สามารถหายได้เอง และสร้างภูมิต้านทานได้ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ในที่สุด


ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ A

  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปี
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ A หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (กลุ่มเพศชาย)
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติด
  • พ่อครัวหรือแม่ครัวที่ต้องปรุงอาหารเป็นประจำ
  • ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสุขอนามัยต่ำหรือเป็นสถานที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ A ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน

ผู้ที่สามารถรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ A

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

วัคซีนไวรัสตับอักเสบ A ฉีดกี่ครั้ง

  • การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ A จะฉีด 2 ครั้ง โดยฉีดห่างกัน 6 – 12 เดือน    

ป้องกันไวรัสตับอักเสบ A, B ด้วยวัคซีนก่อนร้ายแรง

รู้จักไวรัสตับอักเสบ B

ไวรัสตับอักเสบชนิด B เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B (Hepatitis B Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับเรื้อรังและมะเร็งตับที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริการวมทั้งประเทศไทย โดยสามารถติดต่อผ่านทางการคลอด การสัมผัสเลือดหรือแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ และการใช้อุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยาหรือแปรงสีฟัน หากได้รับเชื้อแล้วจะเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายเองและสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยบางรายร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับ และเสียชีวิต


ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ B

  • ทารกแรกเกิดทุกราย เด็ก และวัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ B
  • ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำการฟอกไต
  • ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย ๆ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

ผู้ที่สามารถรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ B

  • เริ่มฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด
  • ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

วัคซีนไวรัสตับอักเสบ B ฉีดกี่ครั้ง

  • ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ B ทั้งหมด 3  ครั้ง 
  • ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 – 2 เดือน
  • ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน


เพราะการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบได้อย่างเห็นผล โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบเอและไวรัสตับอักเสบบีที่อาจร้ายแรงถึงชีวิตหากป่วยเรื้อรัง จึงควรใส่ใจและเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.
พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แชร์