ภูมิแพ้อากาศ ปรับตัวได้ทันไม่ต้องทนแพ้

2 นาทีในการอ่าน
ภูมิแพ้อากาศ ปรับตัวได้ทันไม่ต้องทนแพ้

แชร์

ไม่ว่าจะฤดูไหน เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงทั้งแดด ฝน หนาวที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้เกิดภูมิแพ้อากาศได้ ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมจะช่วยลดความทรมานจากการปรับตัวไม่ทัน ทำให้ทุกข์ทรมานจากอาการโรคภูมิแพ้ หายใจลำบากช่วงกลางคืน ช่วงฝนตก นอนไม่พอ ตาบวม ง่วงไปทั้งวัน 

 

ภูมิแพ้อากาศคืออะไร

ภูมิแพ้อากาศหรือโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง โพรงจมูกอักเสบ และอาการต่าง ๆ ตามมา พบได้ทุกเพศทุกวัย แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และหากไม่รักษาอาจเป็นโพรงไซนัสอักเสบต่อได้ ทั้งนี้กรรมพันธุ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นภูมิแพ้อากาศได้


อาการภูมิแพ้อากาศเป็นอย่างไร

อาการภูมิแพ้อากาศสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • จาม 
  • คันจมูก คัดจมูก เสียงขึ้นจมูก
  • น้ำมูกไหล 
  • ขยี้จมูกจนเป็นรอยที่สันจมูก 
  • คันตา แสบตา
  • คันหู หูอื้อ เจ็บหูด้านหลัง
  • มีเสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง
  • เลือดกำเดาไหล

ตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศทำอย่างไร

การตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศ แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามอาการอย่างละเอียด จากนั้นจะทำการตรวจโพรงจมูกเพื่อดูลักษณะการบวม ตรวจดูสีน้ำมูก ตรวจตุ่มแดงในลำคอ ตรวจสีดำคล้ำของขอบตาล่าง รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติ
การ เช่น ทดสอบภูมิแพ้หาสารแพ้ละอองอากาศทางผิวหนัง (Skin prick test to aeroallergen) ตรวจเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ specific IgE เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์


ภูมิแพ้อากาศ ปรับตัวได้ทันไม่ต้องทนแพ้

รักษาและป้องกันภูมิแพ้อากาศได้อย่างไร

  • หลีกเลี่ยงสารแพ้ละอองอากาศ (ที่ทราบจากจากตรวจข้างต้น) 
  • หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ ใส่หน้ากากเวลาออกข้างนอก ใช้เครื่องฟอกอากาศ
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างเมือกน้ำมูกต่าง ๆ และสารก่อภูมิแพ้
  • ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบต่อเนื่องระยะหนึ่ง และไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกเฉียบพลันต่อเนื่อง
  • รับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ เวลามีอาการ
  • ฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ในสิ่งที่ตนเองแพ้ (Allergen specific Immunotherapy) เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อปรับภูมิคุ้มกันให้หายแพ้ การรักษาชนิดนี้เป็นการรักษาต่อเนื่อง โดยต้องมีแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ควบคุมอย่างใกล้ชิด
  • ผ่าตัดในกรณีที่มีอาการหนักหรือมีโรคร่วม เช่น ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ 

ความรุนแรงของภูมิแพ้อากาศคืออะไร

หากเป็นภูมิแพ้อากาศแล้วมีภาวะแทรกซ้อนอย่างหอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบ ปัญหาการนอนหลับยาก หยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด อย่าทิ้งไว้นานเพราะจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่รบกวนการใช้ชีวิต และหากเป็นหอบหืดที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจรุนแรงถึงระบบหายใจล้มเหลวหรือถึงชีวิตได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด
ชั้น 3 อาคาร A โรงพยาบาลกรุงเทพ
วันจันทร์-พฤหัส และอาทิตย์ เวลา 8.00-17.00 น.
วันศุกร์-เสาร์  เวลา 8.00-16.00 น.

แชร์