พอร์ตเคมีบำบัด ลดความบอบช้ำ เส้นเลือดไม่เปราะแตก

5 นาทีในการอ่าน
พอร์ตเคมีบำบัด ลดความบอบช้ำ เส้นเลือดไม่เปราะแตก

แชร์

ผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัดจะมีการตรวจเลือดและให้ยาเป็นระยะเวลานาน ปัญหาที่มักพบคือ เส้นเลือดแข็ง แห้ง อักเสบ เจาะเลือดลำบาก พอร์ตเคมีบำบัดเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้การเจาะเลือดและการให้ยาเคมีบำบัดทำได้สะดวก ส่งผลให้การรักษาราบรื่น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ผู้ป่วยสามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเจ็บปวด และลดค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

รู้จักกับพอร์ต (Port-A-Cath)

พอร์ตฝังอยู่ใต้ผิวหนังเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการให้สารละลายทางหลอดเลือด ลักษณะการทำงานของพอร์ต คือ นำตลับบรรจุน้ำยาขนาดเล็กฝังไว้ใต้ผิวหนังโดยมีสายเชื่อมต่อเข้ากับหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ การเจาะเลือดและให้ยาจะใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปที่ตลับโดยไม่ต้องเจาะเส้นเลือด ใช้สำหรับให้สารละลาย ให้ยาเคมีบำบัด และดูดเลือดเพื่อนำมาตรวจ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เจาะเลือดยากหรือต้องให้ยาเป็นระยะเวลานาน หรือจำเป็นต้องให้สารละลายที่มีความเข้มข้นสูงระคายเคืองต่อหลอดเลือดดำขนาดเล็ก พอร์ตรุ่นใหม่ PORT-A-Cath®POWER P.A.C ยังสามารถใช้ฉีดสารทึบรังสีสำหรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 


ส่วนประกอบของพอร์ต

พอร์ตหรือตลับให้สารละลายชนิดฝังใต้ผิวหนังทำจากวัสดุทางการแพทย์ที่เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • ส่วนที่ 1 ตลับหรือแป้นสำหรับให้ยาหรือเจาะเลือด มีลักษณะคล้ายกระเปาะ ภายในกลวงมีความจุโดยประมาณ 0.3 – 0.7 มิลลิลิตร วัสดุทำมาจากไททาเนียม สแตนเลส พลาสติกชนิดพิเศษ ตำแหน่งที่ใช้เข็มเจาะอยู่ใต้ผิวหนังเป็นแผ่นซิลิโคนพิเศษสามารถซีลปิดได้หลังจากถอนเข็มออก
  • ส่วนที่ 2 สายเชื่อมต่อเพื่อใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ มีลักษณะเป็นท่อนิ่มขนาดเล็ก วัสดุทำจากซิลิโคนที่มีความยืดหยุ่นและไม่ทำลายผนังชั้นในหลอดเลือดดำ
  • ส่วนที่ 3 ขั้วต่อที่เชื่อมระหว่างตลับกับสายสวนหลอดเลือดดำ

ทำไมต้องใส่พอร์ต

การใส่พอร์ตจะช่วยลดการแทงเข็มให้ยาซ้ำ หลายครั้งทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย รวมทั้งช่วยให้การให้ยาทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานานผ่านหลอดเลือดดำส่วนปลายที่แขนหรือขาอาจทำให้เกิดเส้นไหม้หลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis) ยาเคมีบางชนิดยังมีคุณสมบัติทำลายเนื้อเยื่อเมื่อเกิดรั่วซึมออกจากหลอดเลือด การใส่พอร์ตจะช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้การให้ยาเคมีบำบัดมีความสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น


ข้อดีของการใส่พอร์ต

  • ลดจำนวนครั้งในการแทงเข็มผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย
  • ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเจ็บปวดในการให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  • ช่วยให้การให้ยาเคมีบำบัดง่ายและสะดวกขึ้น

การใส่พอร์ต

การใส่พอร์ตเป็นการผ่าตัดเล็ก ศัลยแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่หรือให้ดมยาสลบขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัด โดยตำแหน่งที่ใส่พอร์ตส่วนใหญ่คือบริเวณหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้าหรือบริเวณต้นแขน โดยแพทย์จะทำการฝังหรือใส่พอร์ตในตำแหน่งที่กำหนดและเย็บตรึงตัวพอร์ตกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นใน ส่วนสายสวนนั้นแพทย์จะใส่เข้าทางหลอดเลือดดำใหญ่และเย็บตรึงไว้ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจดูตำแหน่งของพอร์ตและสายสวนได้จากภาพเอกซเรย์ หลังผ่าตัดผิวหนังบริเวณที่ใส่พอร์ตจะเหมือนผิวปกติ ยกเว้นกรณีที่มีรอยนูนขึ้นมาเล็กน้อยจะช่วยให้หาตำแหน่งได้ง่าย มีแผลขนาดเล็กประมาณ 1 – 2 นิ้วอยู่ใกล้บริเวณพอร์ต หลังผ่าตัดสามารถให้สารน้ำหรือสารละลายทันที หรือตามที่แพทย์กำหนด

พอร์ตเคมีบำบัด ลดความบอบช้ำ เส้นเลือดไม่เปราะแตก


วิธีใช้งานพอร์ต

การใช้งานพอร์ตจะใช้เข็มเฉพาะสำหรับแทงพอร์ต โดยก่อนการแทงเข็มจะใช้ยาชาเฉพาะที่ทาบริเวณที่คลำพบแป้นพอร์ตทิ้งไว้ 30 – 45 นาทีเพื่อลดอาการปวดขณะแทงเข็ม จากนั้นแทงเข็มผ่านผิวหนังให้ตรงกับหน้าปัดของพอร์ต แล้วต่อเข็มเข้ากับสายชุดให้สารน้ำ ซึ่งสารน้ำจะไหลเข้าสู่กระเปาะกลวงของพอร์ต ไหลลงสู่ฐานของกระเปาะกลวงเข้าสู่สายสวนและหลอดเลือดดำใหญ่ เมื่อเรียบร้อยแล้วก่อนนำเข็มแทงพอร์ตออกจะมีการใส่สารกันเลือดแข็งตัวขนาดต่ำตามมาตรฐานที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเพื่อป้องกันพอร์ตเกิดการอุดตัน


เตรียมตัวก่อนใส่พอร์ต

  1. ตรวจเลือด ปัสสาวะ คลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด ตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อความพร้อมของร่างกาย
  2. สอบถามแพทย์ให้เข้าใจก่อนผ่าตัด หากมีข้อสงสัยหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดและการใส่พอร์ต
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนวันผ่าตัด กรณีนัดผ่าตัดช่วงเช้าควรงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด กรณีนัดผ่าตัดช่วงบ่ายควรงดน้ำและอาหารหลังมื้อเช้า และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. หากรับประทานยาแอสไพริน ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หรือเคยมีปัญหาเลือดหยุดยาก แจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ข้อควรปฏิบัติหลังใส่พอร์ต

หลังผ่าตัดใส่พอร์ตใน 1 สัปดาห์แรกควรดูแลตนเอง ดังนี้ 

  • ช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรก บริเวณแผลผ่าตัดจะตึงและเขียวช้ำเล็กน้อย หากปวดแผลผ่าตัดให้รับประทานยาแก้ปวด ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง อาการปวดแผลจะทุเลาลง
  • หลังผ่าตัดสามารถอาบน้ำได้ เพราะแพทย์จะปิดพลาสเตอร์กันน้ำ 5 – 7 วัน โดยซับน้ำให้แห้งทุกครั้งหลังโดนน้ำ
  • งดออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมาก งดยกของหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม งดถูพื้น เพราะจะปวดแผลมากขึ้นและอาจเกิดการอักเสบ
  • หากฝังพอร์ตที่หน้าอกไม่ควรนอนคว่ำ เพราะทำให้เกิดการกดทับพอร์ต
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมาย ส่วนใหญ่แพทย์จะนัดตรวจหลังผ่าตัด 7 วัน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

กรณีที่ได้รับยาเคมีบำบัดเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อบริเวณตำแหน่งที่ฝังพอร์ต และนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือหากเข็มมีการเลื่อนออกจากตัวพอร์ตขณะให้ยา อาจเกิดการรั่วซึมของยาออกมาคั่งใต้ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ พอร์ตที่ฝังอยู่ ดังนั้นหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ทันที

  • แผลมีเลือดออกหรือเลือดซึมออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ
  • แผลบวม แดง อักเสบมากขึ้นจากเดิม
  • เจ็บแผลผ่าตัดมากร่วมกับปวดไหล่มากขึ้นจนไม่สามารถยกแขนข้างที่ฝังพอร์ตได้
  • แขนข้างที่ทำผ่าตัดฝังพอร์ตบวมมากขึ้น
  • มีอาการแน่น อึดอัด หายใจไม่สะดวก
  • บริเวณแผลผ่าตัดมีสารคัดหลั่งซึมหรือเปียกชื้น
  • ไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวด ร้อนบริเวณแผลผ่าตัด

ดูแลหลังใช้งานพอร์ต

  • หลังถอนเข็มออกจากพอร์ตแล้ว ควรปิดรอยเข็มที่แทงพอร์ตไว้ด้วยพลาสเตอร์ใสปลอดเชื้อชนิดกันน้ำนานประมาณ 24 ชั่วโมง หากมีอาการแพ้พลาสเตอร์ให้แจ้งพยาบาลทันที
  • ห้ามแกะ เกาบริเวณรอยเข็ม ถ้าบริเวณพอร์ตแดงหรืออักเสบให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ถ้าบริเวณพอร์ตมีบาดแผลไม่ควรถูกน้ำ
  • สังเกตบริเวณที่ฝังพอร์ตว่ามีอาการผิดปกติ กดเจ็บ แน่นอึดอัดหน้าอก ยกแขน ยกไหล่ข้างที่มีพอร์ตฝังอยู่ไม่ขึ้น บริเวณที่ฝังพอร์ตมีสารคัดหลั่งไหลซึม หรือมีเลือดไหลซึมจากรอยเข็มหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบมาพบแพทย์
  • สังเกตอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว หายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์

ข้อควรปฏิบัติ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ต้องมาสวนล้างพอร์ตด้วยยาป้องกันเลือดแข็งตัวทุก 4 – 6 สัปดาห์ หากไม่มีการใช้งานหรือสิ้นสุดการรักษา
  • การใช้งานพอร์ตต้องใช้เข็มสำหรับแทงพอร์ตเท่านั้น
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง เช่น ไข้ หนาวสั่น บวม ฯลฯ ถ้ามีอาการรีบพบแพทย์ทันที
  • ควรพกการ์ดแสดงรายละเอียดชนิดและรุ่นของพอร์ตติดตัวตลอดเวลา
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

ไม่ต้องใช้พอร์ตแล้วเอาออกได้ไหม

ระยะเวลาในการใช้งานพอร์ตนั้น ส่วนใหญ่สามารถแทงเข็มผ่านหน้าปัทม์ซิลิโคนได้ประมาณ 1,000 – 2,000 ครั้งต่อพอร์ต 1 อัน หากผู้ป่วยไม่ได้ใช้พอร์ตเป็นระยะเวลานานหรือการรักษาสิ้นสุดลงสามารถเอาพอร์ตออกได้ โดยควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อพิจารณาแผนการรักษาประกอบการตัดสินใจ โดยวิธีการเอาพอร์ตออก แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่หรือการดมยาสลบ แล้วจึงเปิดแผลเล็ก ๆ บนตำแหน่งพอร์ต แล้วดึงพอร์ตและสายสวนออก จากนั้นจะเย็บผิวหนังและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปลอดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล


อย่างไรก็ตามการใส่พอร์ตมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย นั่นคือการติดเชื้อบริเวณตัวพอร์ตหรือรอบ ๆ พอร์ตด้านนอก หากพบว่ารอบพอร์ตบวม แดง มีไข้สูง หนาวสั่น หายใจลำบาก ควรรีบมาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้การอุดตันของพอร์ตในสายสวนมีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์จะแก้ไขด้วยการสวนล้างด้วยยาละลายลิ่มเลือด แต่ถ้าไม่สามารถแก้ได้ก็จำเป็นจะต้องผ่าตัดเอาพอร์ตออก ดังนั้นการใส่พอร์ตเคมีบำบัดควรรักษากับทีมแพทย์ที่มีความชำนาญและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเท่านั้น


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์