ฝุ่น PM 2.5 กับผู้สูงอายุ

1 นาทีในการอ่าน
ฝุ่น PM 2.5 กับผู้สูงอายุ

แชร์

ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่จำเพาะ หลาย ๆ ท่านมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังร่วมด้วย ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ปริมาณมาก ฝุ่นจิ๋วนี้เมื่อผู้สูงอายุสูดหายใจเข้าไปสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง

 

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน

ปกติมนุษย์เราทำให้เกิดฝุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อมีลมพัด ฝนตก ก็ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เมื่ออากาศนิ่ง ฝุ่นจะไม่ฟุ้งกระจาย คล้ายกับมีโดมขนาดใหญ่ครอบเอาไว้ ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นสูงมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


แหล่งสำคัญของฝุ่น PM 2.5

แหล่งสำคัญของ ฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ 

  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ 
  • ฝุ่นจากการก่อสร้าง 
  • การเผาป่า 
  • การเผาขยะ 
  • ควันบุหรี่ 
  • ฯลฯ 

 

ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5  

  • สะสมตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน หากเป็นหลอดเลือดที่สมอง ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หากสะสมที่หลอดเลือดหัวใจก็ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายเฉียบพลัน
  • สะสมในปอด ผู้สูงอายุที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ฝุ่นจิ๋วสามารถทำให้โรคกำเริบเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นยังเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปอด หากได้รับฝุ่นจิ๋วปริมาณมากและนาน 
  • สะสมในสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บและเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ

 

ฝุ่นพิษ, ฝุ่นพิษ pm 2.5, ฝุ่นละออง

 

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีฝุ่น PM 2.5 

  1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากผู้สูงอายุชอบออกกำลัง แนะนำออกกำลังกายในบ้านหรือในฟิตเนสแทน
  2. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรสวมใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 เสมอ และสวมใส่แว่นกันแดดเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตา
  3. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องนอนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกรองอากาศให้สะอาดมากขึ้น
  4. ดูแลบ้านให้สะอาดสม่ำเสมอ ควรปิดหน้าต่างประตูเพื่อป้องกันฝุ่นเข้ามาในบ้าน
  5. ติดตามข่าวสารเรื่องสภาพอากาศสม่ำเสมอ

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์
ชั้น 1 อาคาร R
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แชร์