ตีกอล์ฟแบบมืออาชีพให้กล้ามเนื้อไม่สวิง

3 นาทีในการอ่าน
ตีกอล์ฟแบบมืออาชีพให้กล้ามเนื้อไม่สวิง

แชร์

การตีกอล์ฟไม่เพียงแต่ใช้ร่างกายแทบทุกส่วน แต่ยังต้องอาศัยการเล่นเป็นประจำเพื่อให้เล่นได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะนักกอล์ฟอาชีพหรือนักกอล์ฟสมัครเล่นจึงมีโอกาสบาดเจ็บบริเวณมือ ข้อมือ หัวไหล่ แขน ลำตัว และขา การรู้เทคนิคการเล่นกอล์ฟที่มีประสิทธิภาพและช่วยป้องกันการบาดเจ็บ ย่อมช่วยให้กล้ามเนื้อไม่สวิง เล่นกอล์ฟได้อย่างยอดเยี่ยม

 

8 เทคนิคตีกอล์ฟเยี่ยมป้องกันการบาดเจ็บ

1) รู้จักวางแผน (PLAN)  

การวางแผนฝึกซ้อมตีกอล์ฟล่วงหน้าคือสิ่งสำคัญ ตั้งแต่ลักษณะการฝึกซ้อมกอล์ฟ ปริมาณการฝึกซ้อม จดบันทึกการฝึกซ้อม หลีกเลี่ยงการฝึกซ้อมที่หนักเกินไปหรือน้อยเกินไป หากเป็นการออกกำลังกายควรอยู่ที่ 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

2) กินให้เหมาะสม (EAT WELL) 

การบริโภคอาหารที่ถูกต้องช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย อุดมไปด้วยโปรตีน ผัก ผลไม้ และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หากทานของว่างให้เลือกถั่ว เบอร์รี และผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เกลือ และน้ำตาล ควรวางแผนเมนูอาหารล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสม

3) วอร์มอัพทุกครั้ง (WARM UP) 

การวอร์มอัพคือสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งก่อนตีกอล์ฟ เพราะช่วยลดหรือป้องกันการบาดเจ็บ แนะนำให้วอร์มอัพด้วยการออกกำลังแบบแอโรบิกเพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหมุนเวียนเลือด จากนั้นฝึกการเคลื่อนไหวด้วยยางยืด แล้วตามด้วยการยืดกล้ามเนื้อแบบเคลื่อนไหว

4) ดูแลความชุ่มชื้นของร่างกาย (HYDRATE) 

การรักษาความชุ่มชื้นของร่างกายช่วยให้การทำงานของร่างกายและจิตใจมีประสิทธิภาพ ควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาวะ และการฝึกซ้อม

5) การฝึกซ้อมคือหัวใจ (PERFECT PRACTICE) 

การฝึกซ้อมตีกอล์ฟช่วยป้องกันการบาดเจ็บและทำให้ตีกอล์ฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรวางเป้าหมายการฝึกซ้อม ด้วยการจัดการปริมาณในการซ้อม ระยะเวลา และความถี่ในการซ้อม รวมถึงความหนักหน่วงในการซ้อม ที่สำคัญระมัดระวังขณะฝึกซ้อมไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ 

6) สร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ (GET STRONG) 

หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บในการตีกอล์ฟ เพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกอล์ฟด้วยการฝึกซ้อมประเภทเสริมสร้างสมรรถภาพความแข็งแรง (Strength & Conditioning Training) คือ การเล่นเวท (Weight Training) ที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อให้แข็งแรง พัฒนาความแข็งแรง พัฒนาพละกำลัง เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับระยะการฝึกซ้อมและต้องสอดคล้องกับทักษะการเล่นกอล์ฟและสมรรถภาพของร่างกาย

7) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (SLEEP PLENTY) 

เลี่ยงการใช้สมาร์ทโฟนก่อนเข้านอนเพราะแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ส่งผลต่อคุณภาพของการนอน ควรนอนในห้องที่มืดและปราศจากสิ่งรบกวน เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน และควรนอนหลับพักผ่อนให้ครบ 8 ชั่วโมง เพื่อลดการเจ็บป่วยและความเสี่ยงในการบาดเจ็บ 

8) เดินทางแบบรู้ทัน (TRAVEL STRATEGIES)

การเดินทางโดยเฉพาะนั่งเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการนั่งเป็นเวลานาน หากรู้ว่าต้องเดินทางไกลควรเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ปรับตัวให้เข้ากับเวลาใหม่ก่อนออกเดินทาง สวมถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ พยายามเคลื่อนไหวให้บ่อยระหว่างการเดินทาง หากเป็นนักกีฬาอาชีพควรเดินทางมาถึงจุดหมายล่วงหน้าก่อนการแข่งขันเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ปรับตัว

 

ตีกอล์ฟแบบมืออาชีพให้กล้ามเนื้อไม่สวิง

 

ตีกอล์ฟถูกท่าลดการบาดเจ็บ

การใส่ใจเรื่องท่าท่างในการตีกอล์ฟให้ถูกต้องช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • แขนซ้ายเหยียดตรงขณะที่กำลังเหวี่ยงไม้กอล์ฟ (Top Backswing)
  • จุดสูงสุดของก้านไม้กอล์ฟ (Top Backswing) ต้องไม่ถึงเส้นขนาน
  • ท่ายืน (Posture) จรดลูกต้องเป็นลักษณะ N-posture กระดูกสันหลังไม่โค้งงอ
  • รักษาการยืนเหวี่ยงไม้กอล์ฟให้เหมือนตอนยืนจรดลูก
  • ขณะที่เหวี่ยงไม้กอล์ฟใช้กล้ามเนื้อท้องช่วยเหวี่ยงไม้ลงเข้าหาลูก
  • การเหวี่ยงไม้ออกจากลูก (Backswing) ร่างกายส่วนบนหมุนไม่เกิน 90 องศาซึ่งเป็นท่าที่ถูกต้อง
  • จบวงสวิง (Finish Swing) ในลักษณะยืนตัวตรงหรือ Modern Swing ซึ่งเป็นท่าที่ถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตามการบาดเจ็บจากการตีกอล์ฟสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพจะพบมากกว่านักกอล์ฟสมัครเล่น ไม่ว่าจะเกิดจากการตีหนักและนานเกินไป ตีผิดท่า การใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม ปัญหากล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะฉะนั้นจึงควรใส่ใจเล่นกีฬากอล์ฟให้ถูกวิธีและควรสังเกตอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น หากพักร่างกายแล้วยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด 

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์