ต้อลมและต้อเนื้อ ความเสื่อมของเยื่อบุตา

2 นาทีในการอ่าน
ต้อลมและต้อเนื้อ ความเสื่อมของเยื่อบุตา

แชร์

ต้อลม (Pinguecula) และต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นเนื้อนูนที่เยื่อตาขาวข้างกระจกตาดำ ถ้าอยู่เฉพาะที่เยื่อบุตาขาว (Conjunctiva) เรียกว่า ต้อลม (Pinguecula) แต่หากรุกล้ำเข้ามาในกระจกตาดำ (Cornea) เรียกว่า ต้อเนื้อ (Pterygium) โดยต้อเนื้อจะมีลักษณะเห็นเป็นเนื้อสามเหลี่ยมโดยมีหัวอยู่ที่กระจกตา เนื้อเยื่อเหมือนเยื่อบุตาซึ่งมีเส้นเลือดวิ่งเข้าไปเกาะอยู่บนกระจกตาดำ อาจใหญ่หรือเล็กก็ได้ จะแดงมากน้อยขึ้นอยู่กับมีปริมาณเส้นเลือดมากหรือน้อย ทั้งต้อลมและต้อเนื้อส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่อาจจะเป็นได้ทั้งด้านหัวตาและหางตาพร้อมกัน

ต้อลม

(ต้อลม)

ต้อเนื้อ

(ต้อเนื้อ)


สาเหตุต้อลมและต้อเนื้อ

ต้อลมและต้อเนื้อเกิดจากการถูกแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน UV เป็นส่วนประกอบในแสงแดดและมักพบต้อเนื้อในคนที่อาศัยในเขตอากาศร้อน ต้องทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันกลางแจ้ง หรือโดนแสง UVมาก UVอาจพบเป็นปริมาณมากในแสงจากหลอดไฟบางชนิด


อาการต้อลมและต้อเนื้อ

ผู้ป่วยโรคต้อลมและต้อเนื้อที่ยังเป็นไม่มาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ เพียงแต่จะเห็นเป็นเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตาขาวเท่านั้น แต่หากมีการอักเสบหรือเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตา เคืองตา คันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงขึ้น รู้สึกเหมือนมีเศษผงอยู่ในตาได้เป็นครั้งคราว การเจอลมแรง เผชิญฝุ่น ควัน ทรายเป็นประจำ ทำให้ต้อลมต้อเนื้อมีการอักเสบได้มากกว่าปกติ

ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและอาจเกิดสายตาเอียงได้ เนื่องจากต้อเนื้อดึงกระจกตา ทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป ถ้าต้อเนื้อเป็นมากจนลุกลามเข้าไปใกล้กลางกระจกตาและบดบังการมองเห็น สามารถเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กพบน้อยกว่า เนื่องจากยังเจอ UV ไม่มากและไม่นานเท่าผู้ใหญ่


รักษาต้อลมและต้อเนื้อ

การรักษาต้อลมและต้อเนื้อขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากโรคยังไม่รุนแรงคือ ต้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่รู้สึกระคายเคืองและการมองเห็นยังเป็นปกติ การรักษาโรคในระยะนี้ แนะนำให้ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมแว่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ต้อเติบโตลุกลามมากยิ่งขึ้น 

หากเกิดการอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง และอาการอื่น ๆ จากการอักเสบ

ในกรณีของต้อเนื้อที่มีการลุกลามเข้าไปบนกระจกตามาก มีขนาดใหญ่และอักเสบเรื้อรัง จักษุแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เพื่อลอกเอาเนื้อเยื่อต้อเนื้อออกจากเยื่อตาและผิวกระจกตา 

ต้อเนื้อเป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อายุน้อยและผู้ที่ยังคงได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดต้อเนื้อซ้ำ แพทย์มักผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่โดยใช้เยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยเอง เยื่อหุ้มรกที่เตรียมพิเศษจากสภากาชาดไทย โดยอาจใช้วิธีเย็บเนื้อเยื่อหรือใช้ Fibrin Glue ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาบางชนิด เช่น Mitomycin C ในระหว่างการผ่าตัดลอกต้อเนื้อเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำอีกตามความเหมาะสม ปกติเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ใช้เวลาเพียง 30 – 40 นาที หลังการผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นไม่นาน จากนั้นจึงกลับบ้านได้และนัดตรวจหลังผ่าตัด


ป้องกันต้อลมและต้อเนื้อ

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการสวมหมวกและสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลตทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง และควรสวมแว่นเพื่อกันลม ฝุ่น แม้ไม่มีแสงแดดก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน อากาศแห้ง ลม เนื่องจากทำให้ระคายเคือง อักเสบ แดงได้ง่าย
  • ในกรณีที่เป็นต้อลมหรือต้อเนื้ออยู่แล้ว ควรหมั่นสังเกตสี รูปร่าง และขนาดของต้อเสมอ ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงควรปรึกษาจักษุแพทย์ 
  • แม้จะลอกต้อเนื้อแล้วก็ควรระวังด้วยการหลีกเลี่ยงแสง UV เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์