ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเนื้องอกที่ตับอ่อน

3 นาทีในการอ่าน
ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเนื้องอกที่ตับอ่อน

แชร์

เนื้องอกที่ตับอ่อนสามารถเกิดขึ้นได้และไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจตรวจเป็นมะเร็งตับอ่อนหรือโรคอื่นของตับอ่อนได้ ดังนั้นการตรวจเช็กสุขภาพตับอ่อนและปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติคือเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

รู้ได้อย่างไรว่ามีก้อนเนื้อที่ตับอ่อน?

  • การตรวจหาก้อนเนื้อที่ตับอ่อนเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ แต่อาจเห็นตับอ่อนได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากตับอ่อนอยู่ด้านหลังและถูกบังโดยกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ดังนั้นอาจตรวจดูให้ชัดเจนขึ้นด้วยการตรวจ CT Scan หรือ MRI
  • ก้อนเนื้อที่ตับอ่อนอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นดีซ่าน ตรวจร่างกายพบก้อนที่หน้าท้อง อิ่มเร็ว และน้ำหนักลด
  • ก้อนเนื้อที่ตับอ่อนอาจถูกตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยการอัลตราซาวนด์หรือการตรวจโรคในช่องท้องอื่น ๆ

ก้อนเนื้อที่ตับอ่อนลักษณะใดที่เป็นเนื้อร้าย?

  • ก้อนเนื้อที่ตับอ่อนไม่ได้เป็นเนื้อร้ายไปเสียทั้งหมด
  • ก้อนเนื้อที่ตับอ่อนอาจเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ (cyst) หากพบเป็นก้อนเนื้อมีโอกาสการวินิจฉัยเป็นเนื้อร้ายสูง
  • ถุงน้ำของตับอ่อนส่วนใหญ่จะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนและการรักษาที่เหมาะสม

การวินิจฉัยก้อนเนื้อที่ตับอ่อนทำอย่างไร?

  • การตรวจด้วยเครื่อง CT Scan และ MRI มีความชัดเจนและถูกต้องในการวินิจฉัยโรคที่ร้อยละ 85 – 90
  • การวินิจฉัยเนื้อเยื่ออาจไม่จำเป็นในผู้ป่วยทุกราย แต่จะช่วยในผู้ป่วยที่วินิจฉัยไม่แน่ชัด หรือเพื่อยืนยันการวินิจฉัยถ้าอยู่ในระยะลุกลาม
  • การวินิจฉัยถุงน้ำอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมโดยการส่องกล้อง Endoscopic Ultrasound (EUS) และอาจมีการเจาะดูดน้ำจากถุงน้ำออกมาวิเคราะห์เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างชัดเจน

ขนาดของก้อนเนื้อมีความสำคัญหรือไม่?

  • ขนาดของก้อนเนื้อหรือถุงน้ำของตับอ่อนอาจสัมพันธ์กับโอกาสของการวินิจฉัยเนื้อร้าย ถ้ามีขนาดใหญ่มักพบความเสี่ยงของการวินิจฉัยเป็นเนื้อร้ายสูงกว่าขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามถุงน้ำบางชนิดที่มีขนาดใหญ่อาจไม่เป็นเนื้อร้ายได้
  • แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดรักษาในมะเร็งตับอ่อนที่จัดอยู่ในระยะที่ผ่าตัดรักษาได้หรือโรคที่มีโอกาสพัฒนาเป็นเนื้อร้ายในอนาคต
  • ก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงของการเป็นเนื้อร้าย เช่น ก้อนเนื้อที่เกิดจากต่อมไร้ท่อของตับอ่อน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดหากมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร แต่ถ้าเล็กกว่า 2 เซนติเมตรจะประเมินจากการเจาะตรวจเนื้อเยื่อและดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อพิจารณาเลือกการรักษาที่เหมาะสม
  • ในกลุ่มถุงน้ำของตับอ่อนหากวินิจฉัยเป็นเนื้อร้ายควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แต่ถ้าเป็นถุงน้ำที่มีขนาดเล็กและไม่มีความเสี่ยงสูง สามารถรักษาได้ด้วยการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

การพยากรณ์โรคและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน?

  • มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีและอัตราการอยู่รอดต่ำ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักอยู่ในระยะลุกลามหรือมีการกระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่น ๆ โดยมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 25 – 30 ที่สามารถผ่าตัดรักษาได้
  • ปัจจัยความเสี่ยงบางประการเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งต่อมาอาจก่อให้เกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และประเภทของอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ คอเลสเตอรอล อาหารทอด และไนโตรซามีน

ผ่าตัดก้อนเนื้อที่ตับอ่อนออกดีหรือไม่?

  • ก้อนเนื้อที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นมะเร็งโดยการค้นพบทางรังสีวิทยา หรือทางพยาธิวิทยา หรือทั้งสองอย่างควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัดถ้าวินิจฉัยเป็นระยะที่ยังผ่าตัดได้ เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการรักษาหลักเพื่อหวังผลหายขาด
  • สำหรับก้อนเนื้อหรือถุงซีสต์ที่ไม่ทราบแน่ชัดและมีความเสี่ยงต่ำ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

หากต้องผ่าตัดตับอ่อนควรเลือกเทคนิคการผ่าตัดแบบใด?

  • ตำแหน่งของก้อนเนื้อเป็นตัวกำหนดการใช้เทคนิคในการผ่าตัด
  • การผ่าตัดผ่านกล้องของตับอ่อนส่วนปลาย (laparoscopic distal pancreatectomy) อาจพิจารณาในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพอยู่ที่บริเวณลำตัวหรือหางของตับอ่อน (pancreatic body and tail) และไม่มีข้อจำกัดใด ๆ มีข้อดีคือ ฟื้นตัวเร็ว ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลสั้นลง และมีอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด 
  • การผ่าตัดตับอ่อนบริเวณส่วนหัวของตับอ่อน (pancreatic head) อาจพิจารณาเลือกการผ่าตัดแบบเปิดเป็นหลักเนื่องจากมีกายวิภาคและเทคนิคการผ่าตัดที่ซับซ้อน โดยการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic pancreaticoduodenectomy) เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างใหม่และใช้เวลาในการผ่าตัดนาน แต่อาจพิจารณาวิธีนี้หากศัลยแพทย์มีความชำนาญ

มะเร็งตับอ่อนป้องกันได้อย่างไร?

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งผักและผลไม้เพื่อช่วยลดความเสี่ยง
  • ดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนัก
  • งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ดีซ่าน ท้องอืด อิ่มเร็ว หรือน้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์