ผู้หญิงน้ำหนักเกินระวังเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

2 นาทีในการอ่าน
ผู้หญิงน้ำหนักเกินระวังเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

แชร์

การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่หากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ  การสร้างฮอร์โมนเพศผิดปกติ นำไปสู่ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS) ซึ่งมักพบในวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 25 – 35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต

 

รู้จักภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต ฯลฯ

 

ความอ้วนกับ PCOS ในผู้หญิง

ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากเกินไป การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาดหายไป ทำให้มีบุตรยาก

 

photo

อาการต้องสังเกต

หากมีความผิดปกติดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว

  • ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6 – 8 ครั้งต่อปี
  • รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบในผู้หญิงที่ปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย มามากเกินไป มานานเกินไป อาจเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
  • ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน คือ ฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อผู้หญิงมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน
  • อ้วน น้ำหนักเกินมาก ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

 

ความรุนแรงของ PCOS

หากมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) แล้วไม่รีบรักษาอาจส่งผลให้

  • มีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง และหากตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตรในช่วง 3 เดือนแรก  เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
  • เพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม

 

ตรวจวินิจฉัย

  • ซักประวัติ ได้แก่ ประวัติครอบครัว โรคประจำตัว การมีประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมน
  • ตรวจร่างกายทุกระบบ ได้แก่ วัดความดันโลหิต ส่วนสูง น้ำหนัก ตรวจภาวะแอนโดรเจนเกิน ฯลฯ
  • คำนวณค่าดัชนีมวลกายเพื่อดูภาวะโรคอ้วน
  • ตรวจภายในโดยการอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน

photo

การรักษา

  • ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เมื่อลดน้ำหนักได้ในเกณฑ์ปกติ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
  • ทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรแพทย์อาจให้ทานยาฮอร์โมนช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ต้องการมีบุตร แพทย์จะรักษาด้วยยากระตุ้นการตกไข่ หากไม่ได้ผลอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นการตกไข่และการตั้งครรภ์
  • ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ

 

ผู้หญิงป้องกัน PCOS

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง
  • ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  • ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ

 


ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) มักพบในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน เพราะฉะนั้นควรใส่ใจควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากน้ำหนักเกินจนเป็นโรคอ้วนและไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดน้ำหนักอย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งการทานยาและผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์