กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อย่าปล่อยไว้ให้รบกวนคุณภาพชีวิต

3 นาทีในการอ่าน
กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อย่าปล่อยไว้ให้รบกวนคุณภาพชีวิต

แชร์

อาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ และเข้าห้องน้ำหลายครั้ง อาจทำให้หลายคนชะล่าใจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วอาจกำลังเผชิญอยู่กับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder – OAB) ที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว ถ้าไม่รีบรักษาอย่างทันท่วงที

 

รู้จักกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder – OAB) เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ที่เกิดจากการรับรู้ของกระเพาะปัสสาวะที่เร็วกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อย ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะดื่มน้ำในปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม ทำให้เกิดความรำคาญ ขาดความมั่นใจ วิตกกังวล รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบได้ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานช่วงอายุ 30 – 40 ปี และพบมากในผู้สูงวัยช่วงอายุตั้ง 50 ปีขึ้นไป

 

อาการบอกโรค

อาการที่อาจบ่งบอกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย โดยปัสสาวะบ่อยมากขึ้นกว่าปกติที่เคย หรือไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งตอนกลางวัน ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะรีบ ปวดปัสสาวะมาก ไม่สามารถกลั้นได้ ต้องเข้าห้องน้ำทันที 

 

ตรวจเช็กให้รู้ทัน

การตรวจเช็กภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินสามารถประเมินได้โดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งแพทย์จะทำการซักถามและให้ทำแบบประเมินโดยละเอียด ซึ่งจะพิจารณาจาก

  • จำนวนครั้งและปริมาณที่ปัสสาวะใน 1 วัน ตั้งแต่หลังตื่นนอนตอนเช้าถึงก่อนนอนตอนกลางคืน
  • จำนวนครั้งและปริมาณที่ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนนับตั้งแต่นอนหลับถึงตื่นนอนในตอนเช้า
  • จำนวนครั้งที่ปวดปัสสาวะแล้วไม่สามารถกลั้นได้
  • จำนวนครั้งที่ปัสสาวะเล็ดราดในขณะที่ปวดอย่างทันทีทันใดแล้วไม่สามารถกลั้นไว้ได้

นอกจากนี้จะมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจการติดเชื้อ ตรวจปัสสาวะตกค้าง ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะขณะที่มีการเติมน้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยแทรกโรคอื่น ซึ่งการส่งตรวจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ

 

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อย่าปล่อยไว้ให้รบกวนคุณภาพชีวิ

 

รักษากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางการรักษาแพทย์จะพิจารณาโดยละเอียด มีหลายวิธี ได้แก่

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบไปด้วย

  • การจดบันทึกไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ (Voiding Chart) ใส่รายละเอียดปริมาณน้ำดื่มในแต่ละครั้งและปริมาณน้ำปัสสาวะที่ออกมาแต่ละครั้ง โดยจดบันทึกทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง 
  • ลดและงดดื่มน้ำ 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ช่วยป้องกันการตื่นมาปัสสาวะขณะหลับ
  • งดเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ในกรณีที่มีการใช้ยารักษาโรคที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ยาอย่างเหมาะสม
  • ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ (Time Voiding) ช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น ความถี่ในการเข้าห้องน้ำลดลง โดยจะใช้วิธีกำหนดเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ เมื่อปวดปัสสาวะให้สนใจนอกห้องก่อน เมื่อความรู้สึกเริ่มหายไปให้ลองกักเวลาแล้วจดมาว่าปัสสาวะทุกกี่นาทีหรือกี่ชั่วโมงแล้วลองยืดเวลาปัสสาวะออกไป หากปัสสาวะไม่สุดให้นั่งรอในห้องน้ำแล้วปัสสาวะอีกครั้ง ซึ่งการฝึกขับถ่ายปัสสาวะจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง

การใช้ยารับประทาน 

ยาที่ใช้รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจะมีผลในการลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น ความถี่ในการปัสสาวะลดลง และเพิ่มความจุของกระเพาะปัสสาวะ โดยจะต้องมีการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป ปัจจุบันการใช้ยารับประทานได้รับความนิยมมากเพราะผลข้างเคียงน้อย 

ฉีดยาโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) 

การฉีดยาโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะผ่านการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยาหรือไม่ตอบสนองต่อยาที่รับประทาน ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการฉีดซ้ำ รวมถึงอาจมีผลข้างเคียงคือ ปัสสาวะลำบาก  ปัสสาวะไม่ออกหรือออกไม่หมด จำเป็นจะต้องสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเอง

กระตุ้นเส้นประสาทควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะ

วิธีนี้จะใช้กระแสไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยมีทั้งวิธีการรักษาแบบชั่วคราวและแบบถาวร จำเป็นต้องทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น 

ผ่าตัดเพื่อขยายกระเพาะปัสสาวะ 

หากผู้ป่วยทำการรักษาทุกวิธีแล้วยังไม่เห็นผลอาจจำเป็นจะต้องผ่าตัดเพื่อขยายกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้เก็บปริมาณปัสสาวะได้มากขึ้น วิธีนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ได้แก่ ปัสสาวะออกไม่แรง ปัสสาวะออกไม่หมด ปัสสาวะมีตะกอน เพิ่มโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด

 

แม้ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินจะไม่ได้ส่งผลร้ายแรงกับร่างกาย แต่รบกวนการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน รวมถึงส่งผลกับสุขภาพได้ในระยะยาว ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองแล้วรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาทันทีและถูกวิธี ย่อมช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปอีกนาน

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 15.00 น.

แชร์