ROBOdoctor

2 นาทีในการอ่าน
ROBOdoctor

แชร์

เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เผยวิสัยทัศน์การพัฒนาการศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพด้วยการนำนวัตกรรมใหม่จากสหรัฐอเมริกา มาใช้กับ 3 โรงพยาบาลนำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย) โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลภูเก็ต เพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อผู้ป่วย  การเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถซักถาม และโต้ตอบกันแบบเห็นหน้าผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษา  นับเป็นการเสริมประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไข้ที่มารับบริการมากยิ่งขึ้น

โรงพยาบาลกรุงเทพ เล็งเห็นว่าการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีมีผลดีต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ที่ต้องได้รับการรักษาหลังจากเกิดอาการภายใน 3 ชั่วโมง จึงได้นำเทคโนโลยี ROBODOCTOR : Remote Presence System  จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยแพทย์ในการรักษาคนไข้ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทางการแพทย์และมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายมลรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนนาดารวมทั้งเอเซียและยุโรปประเทศต่างๆ อาทิเช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน อังกฤษซึ่งจะทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงการรักษาไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายได้ทันท่วงที  และมั่นใจถึงความถูกต้อง และแม่นยำในการสื่อสารผ่านระบบ Remote Presence System และด้วยความห่วงใยในทุกรายละเอียดของการรักษาผู้ป่วยด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อันเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการขยายบริการไปสู่ระดับนานาชาติ สอดรับกับนโยบายของประเทศที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้

รูปแบบการใช้งานของ ROBODOCTOR นั้น เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาคนไข้มากขึ้น  เริ่มต้นนำร่องเพื่อช่วยในการรักษาคนไข้ทางสมองและระบบประสาท อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เหมาะกับการใช้ในพื้นที่หรือโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ในรพ. นั้น  โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้หุ่นยนต์นี้เข้าไปพบคนไข้แทนแพทย์เอง ซึ่งสามารถเห็นสีหน้า อาการของผู้ป่วยได้โดยตรงผ่านกล้องบริเวณด้านหน้าหุ่นยนต์ ซึ่งการส่งต่อภาพและข้อมูลนี้อย่างทันที ช่วยทำให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากเท่าใด ยิ่งช่วยให้คนไข้ได้มีโอกาสฟื้นตัวและมีคุณภาพชีวิตหลังการรักษาได้เร็วขึ้น

รูปแบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้

เทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาล นำมาใช้เรียกว่า เทคโนโลยี Remote Presence System เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล เสียง ภาพเคลื่อนไหว และเว็บ (Data, Voice, VDO และ Web) เข้ามาเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน และสื่อสารกันระหว่างโรงพยาบาลที่ให้คำปรึกษา (Hub Hospital) และโรงพยาบาลต้นทาง (Spoke Hospital) ช่วยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการรักษา ขณะที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานได้ในเวลาเดียวกัน โดยมีองค์ประกอบหลักที่ติดตั้งประกอบไปด้วย

Hub Hospital ติดตั้ง ControlStation ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็น Desktop หรือ Laptop และโปรแกรมซอฟ์ตแวร์ SureConnect สำหรับการติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงแลกเปลี่ยน และบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ทั้งข้อมูล เสียง ภาพและ ภาพเคลื่อนไหว ทำให้การติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น และมี Joystick สำหรับให้แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาสามารถบังคับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ และกล้องดิจิตอลที่อยู่ที่ Spoke Hospital

Spoke Hospital ใช้ระบบเทคโนโลยี Remote Presence Endpoint  ในที่นี้คือหุ่นยนต์รุ่น RP7i ขนาดความสูง 165 ซม.ที่มีหน้าจอขนาด15 นิ้วแสดงภาพเคลื่อนไหวของแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาที่ Hub  และมีกล้องดิจิตอลและไมโครโฟนสำหรับจับภาพและเสียงที่ Spoke ส่งไปยัง Hub นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จแบตเตอรี่โดยระบบ Auto-dock โดยที่ ControlStation เชื่อมต่อกับ Remote Presence Endpoint ผ่านระบบ Internet Wi-Fi

 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R) โทร. 1719



สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท
ชั้น 1 และชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
ทุกวัน
จันทร์ - ศุกร์ 07:00 - 19:00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 07:00 - 16.00 น.

แชร์