การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น

3 นาทีในการอ่าน
การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น

แชร์

ต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างของกลางลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 4:1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5 – 10% 

หากพบว่าต่อมไทรอยด์โตอาจทำการผ่าตัดออกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์ อีกทั้งการผ่าตัดยังสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งสามารถตัดต่อมไทรอยด์ออกได้หมด รวมถึงสามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองได้ด้วยในบางกรณี แต่ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นที่บริเวณคอและการผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางช่องปาก ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นภายนอกหลังการผ่าตัด เพราะซ่อนแผลไว้ในปาก โดยแพทย์จะพิจารณารูปแบบการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ตามพยาธิสภาพของโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย



การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็งมีข้อบ่งชี้ในเรื่อง

  1. ผู้ป่วยมีความกังวลเรื่องความสวยความงาม เมื่อก้อนมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดหรือโตขึ้นเร็ว
  2. ผู้ป่วยมีก้อนขนาดใหญ่หรืออาจจะไม่ใหญ่มาก แต่ตำแหน่งอยู่ติดหรือลงไปใต้ต่อกระดูกไหปลาร้า อาจมีอาการกดเบียดต่อหลอดลมและหลอดอาหาร

 

เมื่อเหตุผลในเรื่องความสวยงามเป็นเหตุหลัก การที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดก็มักจะมีคำถามในเรื่องแผลผ่าตัดว่าเป็นอย่างไร? ถ้าก้อนหายไป แต่ได้แผลที่คอมาแทนแล้วแผลไม่สวย? การผ่าตัดโดยใช้กล้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็นที่คอจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น


การผ่าตัดไทรอยด์
ส่องกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น

การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น(Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach; TOETVA) มีข้อดีคือไม่ก่อให้เกิดรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถทำหัตถการได้สะดวกและง่ายขึ้นจากการส่องกล้อง อีกทั้งยังลดระยะเวลาการผ่าตัดและทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว



ข้อบ่งชี้ผู้ป่วยที่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น

  1. มีผลการตรวจอัลตราซาวนด์  (Ultrasound) พบว่า ขนาดก้อนมีขนาดไม่เกิน 4 – 6 เซนติเมตร
  2. ผลตรวจชิ้นเนื้อระบุชี้ชัดว่าไม่ใช่มะเร็ง
  3. ผู้ป่วยไม่เคยรับการผ่าตัดที่บริเวณคอหรือคางมาก่อน
  4. ผู้ป่วยไม่เคยรับการฉายแสงบริเวณคอมาก่อน
  5. ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัด


" "

การปฏิบัติตัวก่อนและหลังการรักษา

ก่อนผ่าตัด

ก่อนผ่าตัดควรเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจ เพื่อลดความวิตกกังวล และป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  1. ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count), ตรวจปัสสาวะ, ภาพเอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่น ๆ ถ้าจำเป็น รวมทั้งซักถามประวัติโรคประจำตัว อาการแพ้ต่าง ๆ
  2. เตรียมสภาพร่างกาย โดยแนะนำผู้ป่วยให้ทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอและช่วงบนของหน้าอกก่อนทำการผ่าตัด ฟันปลอม เลนส์เทียม ของมีค่าต่าง ๆ ถอดออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  3. ให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักลงปอดเวลาดมยาสลบ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ควรทำเมื่อผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อของระบบหายใจเฉียบพลัน

 

หลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. หลังผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซกดใต้คางประมาณ 2 วัน  เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดคั่ง หลังจากนั้นจึงแกะผ้าก๊อซออกได้
  2. ผู้ป่วยอาจรู้สึกติด ๆ ขัด ๆ ตึง ๆ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้ และจะมีสายให้น้ำเกลือติดอยู่ที่แขน เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควร แพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก
  4. ควรหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรง ๆ การออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกออกได้
  5. ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม ไม่ควรรับประทานอาหารที่แข็งหรือรสเผ็ดหรือจัดเกินไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  6. การรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งพยาธิแพทย์จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบภายใน 3 – 5 วัน

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์