หมดกังวลเมื่อต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์

2 นาทีในการอ่าน
หมดกังวลเมื่อต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์

แชร์

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักกังวลว่าเสียงจะแหบ พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ มีแผลเป็นขนาดใหญ่และเห็นชัด ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต ซึ่งในปัจจุบันวิธีการผ่าตัดต่อมไทรอยด์สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้ไม่มีแผลเป็นและลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการผ่าตัดอีกต่อไป

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นโรคที่พบบ่อยของต่อมไทรอยด์ ทั้งโรคคอพอก เนื้องอกชนิดไม่เป็นมะเร็ง และมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งการพิจารณาผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นหนึ่งในการรักษาหลักของโรค โดยการผ่าตัดไทรอยด์ ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดนำก้อนของต่อมไทรอยด์ออกโดยการดมยาสลบ อาจทำการผ่าตัดเอาไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งต่อม ขึ้นกับชนิดของก้อนเนื้อและตัวโรคตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา 


ความเสี่ยงของการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

เมื่อผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์คำถามที่ถูกถามเสมอคือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดโดยความเชื่อที่ว่าผ่าแล้วจะเสียงแหบหรือพูดไม่ได้นั้นสาเหตุเนื่องจากขณะผ่าตัดต่อมไทรอยด์นั้นเส้นประสาทควบคุมสายเสียงที่วางตัวอยู่หลังต่อมไทรอยด์เกิดการบาดเจ็บซึ่งปัจจุบันโอกาสในการเกิดมีต่ำมาก (น้อยกว่า 1%) จากการที่แพทย์ทำการเก็บรักษาเส้นประสาทไว้เสมอ นอกจากนี้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อน แพทย์สามารถใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า Nerve Integrity Monitor เพื่อช่วยระบุตำแหน่งเส้นประสาทขณะผ่าตัด ลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บลงให้มากที่สุด 

สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น อาทิเช่น การติดเชื้อของแผลผ่าตัด ภาวะเลือดออกจากแผลผ่าตัด และความเสี่ยงจากการดมยาสลบนั้นพบได้น้อย โดยอัตราการเกิดไม่ต่างจากการผ่าตัดด้วยการดมยาสลบชนิดอื่น ๆ และการเตรียมผู้ป่วยโดยการตรวจร่างกายและสุขภาพก่อนเข้ารับการผ่าตัดจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้


หมดกังวลเมื่อต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์

หลังผ่าตัดทำไมต้องทานยาตลอดชีวิต

การผ่าตัดไทรอยด์ออกข้างเดียวหรือเพียงบางส่วนผู้ป่วยยังคงมีต่อมไทรอยด์ที่ยังผลิตฮอร์โมนเหลืออยู่เพียงพอผู้ป่วยโดยทั่วไปจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนแต่หากในกรณีของมะเร็งไทรอยด์หรือภาวะที่จำเป็นจะต้องผ่าตัดไทรอยด์ออกทั้งต่อมแพทย์จะพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทนการทำงานของต่อมไทรอยด์ไปตลอดชีวิตเพื่อรักษาสมดุลการทำงานของร่างกายและเพื่อช่วยควบคุมผลการรักษา 

ในบางกรณีการผ่าตัดอาจทำให้การทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ที่เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่ข้างต่อมไทรอยด์ ทำงานลดลง ส่งผลให้เกิดการลดลงของระดับแคลเซียมในเลือดได้ เพื่อป้องกันการเกิดกรณีนี้ แพทย์จะทำการเก็บรักษาต่อมพาราไทรอยด์ไว้ขณะทำการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสที่จะต้องรับประทานแคลเซียมเสริมภายหลัง


ผ่าตัดต่อมไทรอยด์กับแผลเป็นที่คอ 

ก้อนเนื้อไทรอยด์มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและบริเวณลำคอเป็นส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้าทำให้เมื่อมีแผลเป็นจะเป็นที่สังเกตได้ง่ายและทำให้เกิดความกังวลเรื่องความสวยความงามเกิดขึ้นการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันสามารถเลือกการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อซ่อนแผลผ่าตัดที่จะเกิดขึ้นบริเวณลำคอจากการผ่าตัดแบบเปิดโดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดไม่ใหญ่และอยู่ในข้อบ่งชี้ที่สามารถทำได้แต่หากผู้ป่วยต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่ลำคอแพทย์ผู้ชำนาญการจะทำให้เกิดแผลที่ลำคอเล็กที่สุดเท่าที่จำเป็นและทำการซ่อมแซมบาดแผลให้สวยงามเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลเป็นให้มากที่สุด


อย่างไรก็ตามหากมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที 


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์