วัณโรคหลังโพรงจมูก

2 นาทีในการอ่าน
วัณโรคหลังโพรงจมูก

แชร์

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปจะติดต่อจากการสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายปนอยู่ในเสมหะที่ผู้ป่วยไอออกมา ทำให้ส่วนมากจะเกิดการอักเสบของปอด เชื้อวัณโรคอาจแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ เชื้ออาจจะฝังตัวอยู่โดยไม่เกิดอาการเป็นเวลานาน และอาจเกิดอาการขึ้น ได้ทุกเมื่อเช่นกัน นอกจากนั้นเชื้ออาจติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงได้ด้วย 

 

อาการวัณโรคปอด

อาการของวัณโรคปอดที่พบได้คือ 

  • ไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์
  • ไอมีเสมหะปนเลือด
  • ผอมลง น้ำหนักลด
  • มีไข้ อ่อนเพลีย 
    ***ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์

 

เชื้อวัณโรคหู คอ จมูก

การติดเชื้อวัณโรคในอวัยวะบริเวณหู คอ จมูกพบได้น้อย และมักจะพบร่วมกับการติดเชื้อในปอด อวัยวะที่พบได้เช่น บริเวณกล่องเสียง โดยผู้ป่วยจะมีอาการ
  • ไอ
  • เสียงแหบ
  • เจ็บคอ
  • เจ็บร้าวไปหู
นอกจากนั้นก็อาจพบที่อวัยวะดังต่อไปนี้ได้เช่นกัน 
  • ลิ้น
  • เหงือก
  • กระพุ้งแก้ม
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอ


ในส่วนของผนังลำคอจนถึงโพรงหลังจมูกพบได้น้อยมาก ๆ บริเวณหลังโพรงจมูกจะมีเส้นเลือดฝอยปริมาณมาก และอยู่ตื้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของเลือดกำเดาไหลหรือไอเป็นเลือดได้ การตรวจบริเวณโพรงหลังจมูก แพทย์หูคอจมูกจะใช้กระจกส่องตรวจผ่านทางลำคอ หรือใช้กล้องส่องผ่านทางจมูกเข้าไปตรวจดู ซึ่งอาจพบลักษณะเป็นก้อนเป็นแผล การตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ออกมาตรวจจะช่วยในการวินิจฉัยได้


ผู้ที่มีความเสี่ยงวัณโรค

อย่างไรก็ตามวัณโรคสามารถรักษาได้ แต่ต้องใช้เวลานานกว่าแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค เช่น 

  1. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค เช่น ญาติ, บุคลากรทางการแพทย์ 
  2. ผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน เช่น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์
  • ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยหลังผ่าตัด
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ

 

วัณโรคหลังโพรงจมูก, วัณโรค


ป้องกันวัณโรค 

  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในบริเวณพื้นที่แออัด ควรใส่หน้ากากอนามัย

การฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคกำหนดให้ใช้เพียงเข็มเดียว โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังในเด็กแรกคลอด หรือคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ส่วนการฉีดในเด็กให้ผลป้องกันได้ดีกว่าผู้ใหญ่ หลังฉีดจะเกิดแผลพุพองบริเวณที่ฉีดและหายไปภายใน 1 เดือน โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นประมาณ 2 เดือนหลังฉีด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์