ความเชื่อผิด ๆ ขณะตั้งครรภ์

3 นาทีในการอ่าน
ความเชื่อผิด ๆ ขณะตั้งครรภ์

แชร์


ความเชื่อ:
ขณะตั้งครรภ์ถ้าอยากให้ลูกผิวขาว ห้ามกินของดำ เช่น เฉาก๊วย โอเลี้ยง ช็อกโกแลต

ความจริง: ลักษณะผิวขาวหรือดำของทารกแรกเกิดนั้นขึ้นอยู่กับการแสดงออกทางพันธุกรรม โดยยีนที่ควบคุมการแสดงออกของเมลานินหรือเม็ดสี ทำให้คนเราเกิดมามีสีผิวที่แตกต่างกัน แต่สิ่งแวดล้อมอาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวได้เมื่อโตขึ้น เช่น การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตสามารถทำให้ผิวดำขึ้นหรือการใช้โลชั่นทาผิวที่มีสารไวท์เทนนิ่งก็ทำให้ผิวขาวขึ้นได้เล็กน้อย แต่การรับประทานเฉาก๊วยหรืออาหารที่มีสีดำนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสีผิวของทารกในครรภ์



ความเชื่อ:
ดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์ช่วยให้ลูกคลอดออกมาไม่มีไข

ความจริง: ไขของทารกในครรภ์ (Vernix Caseosa) ปกติพัฒนาการของทารกในครรภ์ช่วง 5 เดือนจะเริ่มมีการสร้างไขขึ้นมา ซึ่งไขมีหน้าที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทารก ป้องกันการเสียความร้อนให้ทารกแรกเกิด ป้องกันแบคทีเรียผ่านสู่ผิวทารก และยังเป็นตัวหล่อลื่น ช่วยให้คลอดออกมาทางช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ปกติแล้วเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ไขเหล่านี้จะลดน้อยลง หากทารกคลอดก่อนกำหนดไขเหล่านี้จะค่อนข้างเยอะ การดื่มน้ำมะพร้าวนั้น น้ำมะพร้าวมีไขมันทั้งอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เมื่อดื่มน้ำมะพร้าวแล้วทำให้ไขสีขาวขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ลูกคลอดออกมาไม่มีไข



ความเชื่อ:
 ดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์จะทำให้แท้งบุตร

ความจริง: ในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ในปริมาณที่น้อยมาก ปกติในขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะสูงมากอยู่แล้ว ซึ่งในน้ำมะพร้าวมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจึงไม่มีผลต่อการบีบตัวมดลูกที่ทำให้แท้งบุตรได้



ความเชื่อ:
 ขณะตั้งครรภ์ห้ามมีเพศสัมพันธ์

ความจริง: ขณะตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ไม่มีผลที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ อาจจะมีบางช่วงที่ควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลง เช่น ช่วงตั้งครรภ์ใหม่ ๆ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงแรกอาจมีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย และช่วงใกล้คลอด ซึ่งจะรู้สึกอึดอัด เหนื่อยง่าย ถ้ามีเพศสัมพันธ์อาจจะยิ่งทำให้เหนื่อยมากขึ้น  และควรเลือกท่วงท่าให้เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติแท้งบ่อย คลอดก่อนกำหนด ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 3 เดือนแรกและ 3 เดือนก่อนคลอด และงดการมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการน้ำเดินหรือรกเกาะต่ำ



ความเชื่อ: 
ยาบำรุงที่หมอให้ขณะตั้งครรภ์ทำให้อ้วน

ความจริง: ยาบำรุงที่ได้รับตอนฝากครรภ์จะเน้นธาตุเหล็กและวิตามิน ซึ่งเป็นผลดีต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์โดยตรง ช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงดีขึ้น ไม่เกี่ยวกับการทำให้อ้วน แต่ที่ผู้หญิงตั้งครรภ์อ้วนเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์บวมน้ำ และคนท้องส่วนใหญ่เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมากขึ้นด้วย



ความเชื่อ: 
ขณะตั้งครรภ์น้ำหนักจะขึ้นเยอะเท่าไรก็ได้ รับประทานอาหารได้เต็มที่

ความจริง: โดยปกติแล้วระหว่างตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มตามเกณฑ์ดังนี้
ช่วงไตรมาสแรก น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 1 กิโลกรัม
ช่วงไตรมาสที่ 2 ควรเพิ่มประมาณ 4 – 5 กิโลกรัม
ช่วงไตรมาสที่ 3 ควรเพิ่มประมาณ 5 – 6 กิโลกรัม หรือควรเพิ่ม 10 – 12 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่ครรภ์เป็นพิษ จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  หลีกเลี่ยงขนมหวานต่าง ๆ



ความเชื่อ:
 ขณะตั้งครรภ์ห้ามออกกำลังกาย

ความจริง: การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ช่วยส่งเสริมบุคลิกท่าทางของผู้หญิงตั้งครรภ์ ลดอาการปวดหลัง ความเหนื่อยล้า รวมทั้งความเครียดได้ และยังมีหลักฐานว่าการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ช่วยป้องกันการเป็นเบาหวานในผู้หญิงตั้งครรภ์อีกด้วย ปกติหากออกกำลังกายอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ในระดับความหนักปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่อาจเกิดแรงปะทะ หรืออุบัติเหตุได้ง่าย แต่ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ หรือออกกำลังกายที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ และการออกกำลังกายควรเริ่มหลังอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้ว


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์